Watchmen vs Watchmen : ทำไมฉบับหนังสือการ์ตูนถึงเจ๋งกว่าภาพยนตร์

watchmen-poster-book

หลังจากเฝ้ารอมากว่าครึ่งปีตั้งแต่เห็น teaser ครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ในที่สุดก็ได้ไปดูภาพยนตร์เรื่อง Watchmen ในวันแรกที่เข้าฉาย คือวันที่ 5 มีนาคม 2552 ที่โรง IMAX พารากอน และเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่รวมกลุ่มเพื่อนฝูงไปดูได้ถึง 8 คน (จริงๆ คือพวกน้องๆ ในบริษัทและลูกศิษย์ที่ถูกบิลด์อารมณ์พร้อมเลคเชอร์มาจนความอยากดูล้นปรี่) พอออกจากโรงมาแล้วยังมานั่งคุยและนั่งถกกันอีกเกือบหนึ่งชั่วโมงก่อนจะแยกย้ายกันกลับบ้าน เมื่อกลับถึงบ้านก็หยิบหนังสือเรื่องนี้ออกมาพลิกไปมาอยู่หลายตลบ เช้าวันรุ่งขึ้นก็หิ้วหนังสือไปที่ทำงาน กลายเป็นอุปกรณ์ประกอบการสนทนาหลังอาหารกลางวันได้อย่างออกรส ก่อนจะพาหนังสือเล่มเดิมกลับมานั่งๆ นอนๆ อยู่ด้วยกันที่บ้าน เมื่อความคิดเริ่มตกตะกอน… ก็ขอบันทึกไว้ตรงนี้

สิ่งที่กำลังจะเขียนต่อไปนี้ไม่ใช่บทวิจารณ์ภาพยนตร์ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ถนัดจะเขียน แต่เป็นการแสดงความเห็นที่เปรียบเทียบ Watchmen ฉบับหนังสือ กับ Watchmen ฉบับภาพยนตร์ โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่าฉบับหนังสือนั่นเจ๋งกว่าตามที่จั่วหัวชื่อ entry ไว้ เพราะเป็นการ์ตูน (หรือจะเรียกให้มีสง่าราศีหน่อยว่านิยายภาพ) ที่ชอบที่สุดเรื่องหนึ่ง หลังจากที่ได้อ่านครั้งแรกเมื่อประมาณ 5 ปีมาแล้ว และได้อ่านรอบล่าสุดก่อนภาพยนตร์จะเข้าฉายประมาณหนึ่งเดือน

ในความเห็นของผม Watchmen ฉบับหนังสือการ์ตูน เป็นผลงานที่มีข้อดีรอบด้าน เร่ิมตั้งแต่การออกแบบตัวละคร (ทั้งในด้านรูปลักษณ์และการสร้างที่มาที่ไปของตัวละคร) ความใส่ใจในรายละเอียด การให้สีที่มีบรรยากาศชวนค้นหา รวมไปถึงการออกแบบกราฟิกที่ดูดีท้ากาลเวลา แต่สิ่งที่ดีที่สุดจริงๆ กลับเป็นตัวเนื้อเรื่องและบท ที่ได้อลัน มัวร์ เป็นผู้แต่ง ข้อนี้เป็นจุดที่ผู้ซึ่งดูภาพยนตร์โดยไม่ได้อ่านต้นฉบับมาก่อนจะไม่มีวันเข้าใจ

เนื้อหาของ Watchmen ฉบับหนังสือนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชั้น (layer) ด้วยกัน ได้แก่ เนื้อเรื่องหลักในชั้นที่ 1 ตามด้วยชั้นที่ 2 คือส่วนภาคผนวกท้ายบทที่ไม่ได้มีรูปแบบเป็นการ์ตูน แต่เป็นการ (ทำให้เหมือน) รวบรวมเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ, หนังสือพิมพ์ หรือเอกสารต่างๆ ที่มีส่วนช่วยเพิ่มความเข้าใจเนื้อหาชั้นที่ 1 พร้อมกับช่วยปูพื้นเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวให้แน่นขึ้น หรือจะบอกว่าช่วยสร้างโลกของ Watchmen ให้มีน้ำหนักมากขึ้นก็ได้ และชั้นที่ 3 คือการ์ตูนเรื่อง “Tales of the Black Freighter” ที่ตัวละครตัวหนึ่งนั่งอ่านอยู่เกือบตลอดเวลา เมื่อผู้อ่านค่อยๆ เข้าใกล้จุดจบของเรื่องไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวทั้งสามชั้นเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเรื่องราวชั้นที่ 3 ที่ดูเหมือนจะแปลกปลอมและชวนสงสัยมากที่สุดว่าจะเอามาเกี่ยวโยงกับเรื่องราวชั้นที่ 1 ได้อย่างไร

ด้วยความซับซ้อนนี้เอง ที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามแต่แรกว่าจะนำเสนอเนื้อเรื่องทั้งหมดภายในเวลาไม่เกินสามชั่วโมงได้อย่างไร ผลคือ ผู้กำกับเลือกที่จะนำเสนอเรื่องราวชั้นที่ 1 เป็นหลัก และคัดบางส่วนจากชั้นที่ 2 มาแทรกอยู่ตามที่ต่างๆ ในเนื้อเรื่อง โดยเฉพาะไตเติล จุดนี้เองที่ทำให้ลำดับการทำความเข้าใจตัวละครเปลี่ยนไป และความลึกของเนื้อหาโดยรวมลดลงอย่างมาก เพราะแค่เนื้อหาในชั้นที่ 1 ก็มีเนื้อเรื่องย่อยๆ ซ่อนอยู่มากมาย ในความสัมพันธ์ระหว่างตัวประกอบหลายต่อหลายคน ตั้งแต่ลุงเบอร์นาร์ดที่แผงขายหนังสือพิมพ์กับเจ้าหนูเบอร์นี่ที่ชอบมานั่งอ่านการ์ตูน, คนขับแทกซี่กับแฟน, จิตแพทย์กับภรรยา, ตำรวจคู่หู จนไปถึงแกงค์อันธพาล ที่มีเหตุให้เข้ามาเกี่ยวข้องกันทั้งหมดที่ตอนท้ายเรื่องในที่สุด

ตัวแปรอีกอย่างที่สำคัญ คือ “ธรรมชาติของการเสพย์สื่อที่แตกต่างกัน” – แม้ว่าบทภาพยนตร์จะพยายามถอดข้อความมาจากหนังสือมากแค่ไหน และไม่ว่าฉากบางฉากจะถูกทุ่มทุนสร้างด้วยความพยายามจะทำออกมาให้เหมือนกับภาพในหนังสือเท่าไร ก็ไม่สามารถกระแทกใจผู้ชมได้เท่ากับต้นฉบับ เพราะภาพยนตร์เป็นสื่อที่ต้องเสพย์ในทิศทางเดียว ด้วยการนั่งดูจากต้นจนจบเรื่อง ในขณะที่บนหนังสือการ์ตูน ผู้อ่านสามารถพลิกหนังสือกลับไปกลับมาได้ หรือหยุดอยู่ที่หน้าใดหน้าหนึ่งเพื่อพิจารณาภาพบางภาพ เนื้อหาในบางช่องได้ การเปิดหน้ากากของ Rorschach ในภาพยนตร์ จึงไม่สามารถช็อคคนดูได้เท่ากับในหนังสือ เพราะผู้ชมไม่สามารถย้อนกลับไปดูตอนต้นเรื่องเพื่อพบว่าชายคนนี้ปรากฏตัวอยู่ในฉากอื่่นๆ ที่ผ่านมาบ่อยแค่ไหนโดยที่คุณไม่ได้สังเกต ในขณะที่ในหนังสือ เราจะเห็นนาย Walter Kovacs เดินอยู่บนถนนตั้งแต่หน้าแรก! ความรู้สึกปลุกเร้าที่ทำให้ต้องพลิกหน้ากลับไปค้นหา และความตกใจที่ค้นพบนี้ยากที่จะลอกเลียนแบบได้ นั่นเป็นเพราะว่าบทนี้ และผลกระทบต่อจิตใจของผู้อ่านแบบนี้ถูกเขียนและออกแบบมาเพื่อใช้กับสื่อชนิดนี้ตั้งแต่แรก เชื่อว่าการทำให้บทที่ถูกเขียนมาเพื่อสื่อชนิดหนึ่งโดยเฉพาะต้องถูกเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เข้ากับธรรมชาติของสื่ออีกชนิดหนึ่ง (และการโดนฮอลลีวูดยำเละ) คงเป็นเรื่องที่อลัน มัวร์ ไม่ปลื้มอย่างแรงจนขอไม่เอาเครดิต เช่นเดียวกับ V for Vendetta

alien squid

ย้อนกลับมาที่ข้อจำกัดทางเวลา และการเลือกนำเสนอเฉพาะเนื้อหาชั้นที่ 1 สองจุดนี้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเรื่องในช่วงไคลแมกซ์ จากในต้นฉบับที่แผนการของ Ozymandias คือการสร้างสัตว์ประหลาดจากนอกโลกไปปรากฏตัวกลางเมืองนิวยอร์ค เป็นการใส่ความว่า Dr.Manhattan ใช้พลังถล่มเมืองสำคัญทั่วโลก – จากปฏิกริยาของผู้ที่เข้าชมภาพยนตร์ร่วมกับผม มีหลายคนตั้งคำถามว่า “มันง่ายไปไหมที่ทั่วโลกจะยุติสงครามมาจับมือกันด้วยเหตุนี้” แม้ว่าทั้งสองตอนจบจะมีแนวคิดเดียวกันคือ “สงครามสงบลงเพราะทั้งสองชาติมหาอำนาจมีศัตรูร่วมกัน” แต่น้ำหนักของตอนจบในฉบับภาพยนตร์กลับน้อยกว่ามาก เพราะการปรากฏตัวของสัตว์ประหลาดปลาหมึกยักษ์ถือเป็นเซอร์ไพรส์ชิ้นใหญ่ที่สุด เป็นการช็อคผู้อ่านครั้งใหญ่ในการเปิดบทที่ 12 ชนิดที่ผมเชื่อว่าไม่มีผู้อ่านคนไหนที่จะไม่ถูกตรึงให้พิจารณารายละเอียดของฉากทำลายล้างครั้งใหญ่นี้ ทีละหน้า ทีละหน้า เพื่อมองเห็นซากศพของเหล่าตัวประกอบที่เราคุ้นหน้าคุ้นตามาตั้งแต่ต้นเรื่องนอนตายระเกะระกะอยู่บนมุมถนนที่คุ้นเคย จนเมื่อเห็นรูปร่างหน้าตาของเจ้าปลาหมึกเอเลี่ยนนี้แล้วก็รีบพลิกกลับไปยังบทก่อนๆ เพื่อปะติดปะต่อที่มาที่ไปของแผนการทำลายล้างในครั้งนี้… และเมื่อตัวต่อทุกชิ้นถูกประกอบขึ้นเป็นภาพที่สมบูรณ์ ความรู้สึกทั้งหมดนี้รวมกันก็ทำให้การตายของชาวนิวยอร์คครึ่งเมืองด้วยสัตว์ประหลาดจากนอกโลก มีผลทางจิตใจรุนแรงกว่าการเห็นเมืองสำคัญทั่วโลกถูกทำลายด้วยน้ำมือของ Dr.Manhattan และที่สำคัญ มันน่าเชื่อถือว่าเป็นการวางแผนอันสลับซับซ้อนของ “ชายที่ (เหมือนจะอ้างว่าตัวเอง) ฉลาดที่สุดในโลก” มากกว่าการใส่ร้ายเพื่อนฮีโร่ด้วยกัน

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีจุดเล็กจุดน้อยที่ผมเห็นว่าทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้อ่อนลง ดังต่อไปนี้

  • ชุดของพวกตัวเอก ถูกปรับแบบให้ดูทันสมัยขึ้น แต่มันไม่ค่อยจะ 80s เอาเสียเลย โดยเฉพาะชุดของ Nite Owl กับ Ozymandias ที่ไปเหมือน Batman and Robin ยุค 90s เสียจนอยากจะเรียกเรื่องนี้ว่า “ฮูกแมน แอนด์ ฟาโรห์บิ้น”
  • ฉากต่อสู้ในตอนเปิดเรื่อง ถูกใส่มาโดยไม่จำเป็นทำให้ผู้ชมพอเดาได้แต่แรกว่าฆาตกรเป็นใคร
  • ผู้กำกับพยายามยัดเยียดฉากแอคชั่นบู๊ล้างผลาญ เลือดสาดมากเกินจำเป็น โดยเฉพาะจังหวะสโลวโมชั่นเมื่อเกิดการกระทบ (เรื่องนี้ไม่ใช่ 300 นะครับ ควรปรับใจเสียใหม่ก่อนเร่ิมกำกับ)
  • สองข้อแรกนั้นชวนให้คิดสงสัยว่า ถ้าเอาเวลาที่ให้กับฉากบู๊ดังกล่าวมาทำอะไรอย่างอื่นจะดีกว่าหรือไม่
  • การที่ Rorschach ใช้มีดฟันหัวฆาตกร แทนที่จะจับเผาทั้งเป็นแล้วยืนดูเฉยๆ ทำให้ตัวละครนี้ถูกลดชั้นลงมาเป็นฆาตกรเสียเอง

แต่ก็ไม่ใช่ว่าภาพยนตร์จะมีแต่จุดที่ด้อยกว่าหนังสือการ์ตูนนะครับ บางฉากก็ทำได้น่าประทับใจกว่า เช่น ฉากที่ Rorschach เดินตาม Big Figure เข้าห้องน้ำ ที่เรียกเสียงหัวเราะและความระทึกใจได้มากจริงๆ

สุดท้ายแล้วถ้าถามว่าภาพยนตร์เรื่อง Watchmen นี้ทำได้ดีหรือไม่ ผมยังตอบได้แบบไม่คิดว่าเป็นหนังที่ดี และน่าดู การเล่าเรื่องในเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงนั้นทำได้อย่างราบรื่น ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้นั่งดู เทคนิคพิเศษตระการตา คิวบู๊สะใจ โปรดัคชั่นยิ่งใหญ่ ใส่ใจกับรายละเอียดของอุปกรณ์ประกอบฉากเล็กๆ น้อยๆ มากอย่างไม่น่าเชื่อ (ทีมพร็อพขยันมากๆ) และมีจุดจบคาดไม่ถึง เพียงแต่น่าเสียดายที่มันไม่สามารถเทียบชั้นได้กับต้นฉบับหนังสือการ์ตูนที่ทรงคุณค่าระดับตำนานได้เท่านั้นเอง

ป.ล. อยากถามกองเซนเซอร์ไทยว่าทำไมต้องไปปิดบังอวัยวะเพศของ Dr.Manhattan? ถ้าไม่ไปป้ายตรงนั้นให้เป็นปื้นสลัวแปลกปลอม ผู้ชมอาจจะไม่สนใจไปมองก็ได้ และอีกอย่างนึงคือ นมของ Silk Spectre นั้นน่าจะถูกบังมากกว่านมของนักเต้นในเรื่อง 300 และนมของชิซูกะเสียอีก เพราะนี่เป็นฉากการร่วมเพศอย่างค่อนข้างโจ่งแจ้ง แต่ท่านกลับไม่ทำ… มาตรฐานอยู่ตรงไหนครับ?

3 Responses to “Watchmen vs Watchmen : ทำไมฉบับหนังสือการ์ตูนถึงเจ๋งกว่าภาพยนตร์”

  1. mr robot Says:

    March 8th, 2009 at 13:04

    ส่วนตัวแล้วรับได้นะครับถ้าหนังจะดัดแปลงจากหนังสือไปบ้างแล้วดูดี เพราะเข้าใจว่าคงไม่มีทางที่จะยัดรายละเอียดอัน ปราณีตบรรจงจากการ์ตูน ลงไปในหนังเกือบสามชั่วโมง ได้แน่ๆ……

    ก็เหมือน ลอรด์ออฟเดอะริงค์นั่นแหละครับ ที่ผู้สร้างพยายามตัดรายละเอียดปลีกย่อยรายทางออกไปบ้างเพื่อคงหัวใจ หลักของเนื้อหาเอาไว้ ผมชอบที่แซ็ก ชไนเดอร์ แกให้สัมภาษณ์ไว้นะ ว่าพวกเขาไม่ได้สร้างหนังเรื่องนี้เพื่อมาแทนที่การ์ตูนต้นฉบับ หลังจากหนังตัวอย่างออกฉายแล้วมีคนจำนวนมหาศาลไปไล่ หาการ์ตูนต้นฉบับมาอ่าน อย่างน้อยมันก็ทำให้คนอีกมากมายได้รู้จักกับนิยายภาพชั้นดีเรื่องนี้นะ

    บอกตรงๆเลยนะครับว่าผมดีใจมากๆเลยที่มีคนหยิบการ์ตูนเรื่องนี้มาสร้างเป็นหนัง เพราะมันจะกระแทกความคิดของคนหลายๆคนที่ชอบบอกว่า “หนังซูเปอร์ฮีโร่เนื้อเรื่องมันไม่ต้องทำอะไรมาก แค่จับผู้ร้ายมาซัดพระเอกแล้วพระเอกชนะตอนจบ ได้ก็พอแล้ว” ให้หน้าหงายไปตามๆกันเลย …….

  2. humanoid Says:

    March 8th, 2009 at 18:06

    Rorschach สุดยอดดด

  3. ตอนนี้กำลังรอดูฉบับ director’s cut อยู่ครับ ถ้าแทรก Black Freighter เข้าไปแล้วคงจะได้เนื้อหาครบถ้วนมากขึ้น

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.