เกมแฟนพันธุ์แท้ กับการสอน typography

นี่เป็นครั้งแรกที่จะเขียนบันทึกเกี่ยวกับงานสอนของตัวเอง หวังว่าคงเป็นที่สนใจและเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านนะครับ หากมีนักศึกษาที่เคยเรียนด้วยกันผ่านมาอ่าน ก็ขอให้ช่วยแสดงความเห็นด้วยนะครับ ขอบคุณครับ

ตั้งแต่แรกที่ผมมารับหน้าที่อาจารย์พิเศษ สอนวิชา typography ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อปลายปี 2549 ผมคิดหนักมากว่า “จะทำอย่างไรไม่ให้นักศึกษาเบื่อ?” เพราะวิชานี้เป็นศาสตร์ที่สุดโต่งมาก คนที่อินก็จะอินสุดๆ (จนหลายคนมองด้วยความสงสัย) แต่คนที่ไม่ชอบก็จะแหยงไปเลย แต่ด้วยความที่จะได้ไปเริ่มสอนในวิชา typography 2 ที่ต้องเน้นการใช้งานจริงแล้ว จึงได้ข้อสรุปว่า “คงไม่ต้องทำให้สนุกเท่าไหร่” (มั้ง?) แต่ลงไปลุยวิเคราะห์งานของนักศึกษาอย่างถึงลูกถึงคน และเน้นเรื่องกริดกับระบบโครงสร้างในการจัดการกับข้อความให้มาก น่าจะพอ

มาถึงปีการศึกษา 2550 เมื่อได้มาสอนวิชา typography 1 ความตั้งใจจะสอนให้ไม่น่าเบื่อก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะคราวนี้ถือเป็นการแนะนำนักศึกษาให้รู้จักกับ typography ถ้ามีความประทับใจแรกที่ดี ย่อมจะทำให้เปิดใจรับและเรียนรู้ได้ง่ายกว่า บวกกับความที่ตนเองไม่ใช่คนที่แน่นเรื่องทฤษฎีมากนัก จึงตัดสินใจว่า “จะเอาให้สนุกไว้ก่อน ถ้ารักแล้วอยากจริงจังก็ไปค้นคว้าเอาเองทีหลังได้” ไม่แน่ใจว่าเป็นความคิดที่ถูกหรือเปล่า แต่ก็ได้คิดกิจกรรมมาให้เล่นสนุกกัน เช่น ให้นักศึกษาช่วยกันจับกลุ่มปกอัลบั้มเพลงตามรูปแบบตัวอักษรเพื่อเรียนรู้แนวนิยมในการใช้ตัวพิมพ์สื่ออารมณ์เพลงประเภทต่างๆ เป็นต้น

จนในปีการศึกษา 2551 ที่ได้กลับมาสอน typo 1 เป็นครั้งที่สอง ผมได้คิดกิจกรรมใหม่ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือ “เกมแฟนพันธุ์แท้ typo”

fanpuntae

เริ่มจากการมอบหมายให้นักศึกษาไปค้นคว้าเกี่ยวกับ typeface คนละแบบ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวนทั้งหมด 40 แบบ ตามจำนวนนักศึกษา เพื่อมานำเสนอหน้าชั้นเรียนเกี่ยวกับประวัติ, รูปร่างหน้าตา และการใช้งาน จากนั้นนำข้อมูลรายงานทั้งหมดมารวมกัน เพื่อให้นักศึกษาไปทำความรู้จัก (หรืออย่างน้อยก็ท่องจำ) ทั้ง 40 typefaces นั้นเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ เพื่อมาแข่งขันในเกมต่อไปนี้…

ด่านแรก บอกชื่อ typeface ที่ปรากฏ ภายในเวลา 6 วินาที ตอบผิดก็ตกรอบไป

clarenton

ความสนุกอยู่ตรงที่ ส่วนใหญ่นักศึกษาจะจำ typeface ที่ตัวเองต้องทำรายงานได้ แต่จะจำของเพื่อนไม่ค่อยได้ จึงเกิดการเปิดโพยและกระซิบ หรือบอกใบ้กันให้วุ่น

รอบที่สอง เปิดป้าย ยิ่งเปิดน้อยแล้วตอบถูก ก็ได้คะแนนไปเยอะ ตอบผิดตกรอบ รอบนี้สามารถกรองผู้เข้าแข่งขันได้เหลือเพียงไม่กี่คน

25sqares

ความสนุกอยู่ตรงที่การลุ้นว่าจะเปิดมาแจ็คพอทที่ลักษณะเฉพาะของ typeface นั้นหรือไม่ มีคนที่สามารถตอบถูกได้จากการเปิดครั้งเดียว เพราะไปจ๊ะเอ๋กับ “หางตัว Q ของ Trajan” และ “ตัว M ของ Optima” แน่นอนว่าตอนนี้เพื่อนๆ จะช่วยกันอย่างที่กรรมการห้ามไม่อยู่แล้ว

รอบสุดท้ายคือการเปิดป้ายทายจากคุณสมบัติ เปิดน้อยได้แต้มมากไปตามระเบียบ มีคำถามหลายชุด ใครตอบถูกก็หยุดไป รวมคะแนนสะสมจากรอบสอง สุดท้าย ผู้ชนะสามอันดับแรก จะได้รางวัลเป็นหนังสือ, แผ่นพับ type specimen หรือบัตรเข้า TCDC สิบวัน (ที่ได้จากการต่ออายุสมาชิกของผม หุหุ)

properties

จากที่ได้ลองเล่นเกมนี้มาแล้วสองครั้ง พบว่านักศึกษาสนุกสนานกันมาก ไม่ว่าจะด้วยความใฝ่รู้ หวังรางวัล หรืออะไรก็แล้วแต่ 😀

ผมเชื่อว่านี่น่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่ทำให้นักศึกษารู้จักและจดจำ typeface ได้ทีเดียว 40 ตัวในเวลาอันสั้น และถือเป็นการบรรลุเป้าหมายที่อยากสอน typo ให้สนุกได้ทางหนึ่ง และตราบใดที่ยังสอนวิชานี้อยู่ ผมจะพยายามหาวิธีใหม่ๆ ต่อไป

ใครอยากนำไปใช้บ้างไม่ว่ากันนะครับ ได้ผลอย่างไรอย่าลืมกลับมาบอกกล่าวกันด้วยนะครับ

10 Responses to “เกมแฟนพันธุ์แท้ กับการสอน typography”

  1. อยากให้อาจารย์ทุกท่าน เป็นอย่างพี่จัง ผมไม่ได้เรียนทางสายนี้ แต่ว่าพออ่าน idea ในการสอนแล้ว ก็รู้สึกอยากรู้ไปด้วยเลยครับ

  2. ขอบคุณครับ 😀

  3. นู้นนน Says:

    July 19th, 2009 at 23:37

    ดีค่ะอาจารย์มีเกมใน class ไม่เบื่อด้วย
    แถมมีของรางวัลมาแจกอีก ยิ่งชอบกันใหญ่

    แต่รุสึกหนูจะตกรอบแรกนะที่เล่นเกมกันครั้งนั้น 55555

  4. honeypeanuts Says:

    July 19th, 2009 at 23:52

    ดีค่ะ 😀
    สนุกสนานและมีของรางวัล

    ิยิ่งทำเหมือนแฟนพันธุ์แท้ของจริงขึ้นเรื่อยๆแล้วนะคะเนี้ยอาจารย์

  5. เป็นวิธีการสอนที่ดสนุกมากครับพี่ เด็กๆดูจะจำอะไรได้มากโดยไม่้ต้องไปนั่งท่องอ่านหนังสือ
    ขอยืมเอาไปใช้บ้างนะครับ 🙂

  6. เป็นการสอนที่ดีจริงๆ อ่านดูก็น่าสนุกแล้ว
    จะลองไปประยุกต์กับการสอนถ่ายภาพบ้างครับ

  7. อุ้ม Says:

    July 20th, 2009 at 07:42

    สนใจเอา Type Trumps (FACE37) การ์ดเกม typo ไปสอนมั๊ย? ได้ความรู้ที่มาของแต่ละตัวเพิ่มเข้าไปอีก

  8. ขอยืมไปสอนหน่อยย น่าสนุกมาก

  9. จำได้ว่าสนุกมาก ลุ้นมาก.. จำฟอนต์ได้มากขึ้นด้วย ^^
    แล้วก็อยากได้ของรางวัลมาก ฮ่าๆ
    หนังสือ ‘whatever you think, think the opposite’

    มุกเกือบชนะแล้ว แค่เกือบนะ!! ฮ่าๆ 😛

  10. ครูบะหมี่ Says:

    April 10th, 2013 at 19:24

    ป่านนี้พัฒนาไปเป็นเกมอะไรแล้วคะ The Identity ก็ไม่เลวนะ เดี๋ยวครูขอก็อบไอเดียไปสอนบ้าง

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.