Walkman อายุครบ 30 และพฤติกรรมการฟังเพลงของคนอายุย่าง 31

ภาพจาก Gizmodo

ภาพ Walkman รุ่นแรก จาก Gizmodo

ไม่นานมานี้ได้เขียนบทความขนาดสั้นให้กับนิตยสาร art4d เนื่องในโอกาสที่ Walkman มีอายุครบ 30 ปี และก่อนที่บทความดังกล่าวจะได้ตีพิมพ์ ก็บังเอิญไปเจอบทความที่น่าสนใจอันหนึ่ง เกี่ยวกับการให้เด็กวัยรุ่นยุค iPod มาลองเล่น Walkman รุ่นแรก อ่านแล้วได้คิดตามหลังจากปะติดปะต่อบทความเข้าด้วยกัน จึงขอมาเล่าสู่กันฟังกันตรงนี้

ก่อนอื่น ขอเชิญอ่านเรื่องที่ผมเขียนก่อนนะครับ

บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร art4d ฉบับที่ 162 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552

What’s Up, Mr.Walkman!

ในยุคที่ไม่ว่าจะเดินทางไปไหนก็ต้องเห็นคนใส่หูฟังอย่างทุกวันนี้ หลายคนคงนึกภาพไม่ออกว่าโลกในยุคก่อนที่จะมีเครื่องเล่นเพลงพกพานั้นเป็นอย่างไร ไม่แปลก เพราะนั่นเป็นช่วงเวลาที่นานกว่าที่หลายคนคิด เราเริ่มมีเพลงให้ฟังเป็นการส่วนตัวนอกสถานที่มาถึงสามสิบปีแล้ว

หากมองย้อนกลับไปจากปัจจุบัน วิวัฒนาการของพฤติกรรมการฟังเพลงและอุปกรณ์ในการฟังเพลงจะเกิดขึ้นตามวิวัฒนาการของสื่อบันทึกเสียง เมื่อกระแสความนิยมเริ่มเปลี่ยนจากการใช้แผ่นเสียง (vinyl record) มาเป็นเทปในช่วงยุค 70s ทำให้เครื่องเล่นมีขนาดเล็กลงจนไปจุดประกายให้มีคนเริ่มคิดถึงการพกพา ทางออกแรกที่ดูค่อนข้างทุลักทุเลของยุคนั้นคือ boombox หรือวิทยุสเตริโอชิ้นเดียวที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ แต่นั่นก็เป็นเหมือนแค่ตัวคั่นเวลา ผลิตภัณฑ์ของ Sony ที่ชื่อว่า Walkman หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ Soundabout ที่วางตลาดในปี 1979 ต่างหาก ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการฟังเพลงนอกสถานที่อย่างแท้จริง ด้วยตัวเครื่องที่เป็นเพียงเครื่องเล่นเทปขนาดเล็กที่ไม่มีลำโพง แต่มีช่องเสียบหูฟังมาให้แทน ขนาดที่เล็กพอจะพกพาได้ แม้จะได้ต้องเจอกับการต่อต้านด้วยเหตุผลแปลกๆ เช่น ความไม่เชื่อมั่นใจคุณภาพเสียง ความเกรงกลัวการจะถูกโจมตีว่าอุปกรณ์ชนิดนี้สร้างความโดดเดี่ยวให้ผู้ฟังอยู่กับตัวเองมากไปจนต้องมีปุ่มลดเสียงเพื่อพูดคุย และช่องหูฟังที่สองสำหรับแบ่งปันเสียงเพลง แต่การตลาดแบบรากหญ้าของ Sony ที่ให้พนักงานใช้ Walkman ในที่สาธารณะให้ประชาชนทั่วไปเห็น ก็ทำให้ Walkman แจ้งเกิดได้สำเร็จ

นับจากนั้นเป็นต้นมา Walkman หรือ Soundabout จึงกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่ที่เด็กและวัยรุ่นที่เติบโตในยุค 80s แทบทุกคนอยากมีไว้ในครอบครอง ทศวรรษ 1980 เริ่มต้นด้วยการถาโถมของเครื่องเล่นเพลงพกพาจากหลากหลายยี่ห้อที่พยายามแข่งกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในตลาดที่ดูมีอนาคตสดใส แต่ด้วยผลของการเป็นต้นตำหรับ สำหรับคนไทยเรา คำว่า “ซาว-อะ-เบ๊า” หรือ “ซาว-เบ๊า” จึงถูกใช้เป็นคำเรียกเหมารวมประเภทสินค้าเครื่องเล่นเพลงพกพาไม่ต่างจากที่เราใช้คำว่า “แฟ้บ” เหมารวมผงซักฟอก เด็กสมัยนั้นที่ยังไม่มี gadget อะไรให้พกพา ตอนประถมอาจจะแข่งกับเพื่อนว่าใครมีกล่องดินสอที่แปลงร่างได้มากกว่ากัน หรือเอาเกมกดมาเวียนกันเล่นให้เพื่อนมุงดู แต่พอเริ่มเป็นวัยรุ่น เริ่มฟังเพลง ก็ไม่มีอะไร cool และสุนทรีย์ไปกว่าการมี “ซาวเบ๊า” (ที่ไม่เกี่ยงยี่ห้อ) ซักเครื่อง แล้วพกตลับเทปอัลบั้มโปรดไปฟังยามว่าง ต้องขอบคุณ Sony และ Walkman ที่ทำให้ชีวิตวัยรุ่นที่ผ่านมานานแล้วของหลายคนมีโลกส่วนตัวที่ไม่เงียบเหงาเกินไป

กลับมายังปัจจุบัน แม้เครื่องเล่นเพลงพกพาจะไม่ได้เป็นสินค้าที่แปลกใหม่อีกแล้ว และตัวเครื่องเล่นก็วิวัฒนาการตามสื่อบันทึกเสียงที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่ชื่อ Walkman ยังถูก Sony นำมาใช้กับผลิตภัณฑ์เครื่องเล่นพกพาอยู่ตลอดสามทศวรรษ ในช่วงของการเปลี่ยนจากยุคเทปเป็น CD ในสมัยกลาง-ปลาย 80s ชื่อ Discman ก็ถูกแทนที่ด้วย CD Walkman, ในยุค 90s ที่ Sony พยายามปลุกปั้น MiniDisc (MD) เราก็ได้เห็นเครื่องเล่น MD Walkman และตั้งแต่ในยุคต้น 2000 เมื่อเครื่องเล่นเพลงดิจิทอลเริ่มมีบทบาท Sony ก็ใช้ชื่อ Walkman กับเครื่องเล่นที่ใช้ hard disk และ flash memory มาจนถึงปัจจุบัน

น่าเสียดายแทน Sony ที่ไม่สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำในกลุ่มเครื่องเล่นพกพาผ่านการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทอลได้ เพราะดุเหมือนว่า Sony จะไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมการเสพย์เพลงในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของสื่อ ความผิดพลากครั้งใหญ่คือการจำกัดให้เครื่องเล่นรองรับแต่ไฟล์ฟอร์แมทเฉพาะของตัวเอง ไม่ใช่ mp3 ที่เป็นมาตรฐานของการฟังและแบ่งปันเพลงในยุคนี้ บวกกับการไม่สามารถพัฒนาซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการจัดเก็บคลังเพลงจำนวนมากให้ทำงานได้อย่างราบรื่น กว่าจะกลับตัวทันก็โดน iPod และเครื่องเล่นจากค่ายอื่นกินส่วนแบ่งการตลาดไปจนสายเกินแก้ ถึงตอนนี้คำว่า “ซาวเบ๊า” ถูกแทนที่ด้วยคำว่า “iPod” และ “mp3” สำหรับบางคน “โทรศัพท์มือถือ” อุปกรณ์ที่แทบทุกคนในสังคมเมืองต้องมี ก็สามารถทำหน้าที่แทนเครื่องเล่นเพลงพกพาได้อย่างเพียงพอ Sony ได้พยายามใช้คำว่า Walkman กับกลุ่มโทรศัพท์มือถือของ Sony Ericsson ที่เน้นความสะดวกสบายในการฟังเพลง แต่แบรนด์ Walkman ไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนเมื่อสามสิบปีก่อนอีกแล้ว ถ้า Sony อยากให้ Walkman กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งคงต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพราะนี่ไม่ใช่การแข่งขันกันด้วยการพัฒนาเครื่องเล่น แต่อยู่ที่การพัฒนาระบบที่ประกอบด้วย เครื่องเล่น ซอฟท์แวร์ ไฟล์ฟอร์แมท ระบบการซื้อขายเพลงจากอุปกรณ์ และองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย นอกเสียจากจะสร้างการปฏิวัติพฤติกรรมการฟังเพลงแบบเหนือความคาดหมายให้ได้อีกครั้ง

ส่วนนี่คือบทความจาก BBC เมื่อเจ้าหนูอายุ 13 ต้องมาใช้ Walkman รุ่นแรกแทน iPod เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ จะเกิดอะไรขึ้น? – เชิญอ่าน

ตัวผมเองเกิดมาก่อน Walkman รุ่นแรกแค่ปีเดียว กว่าจะมี “ซาวเบ๊า” เป็นของตัวเองก็อีกกว่าสิบปีต่อมา ถ้าจำไม่ผิดก็มีแบบเทปตัวหนึ่งหรือสองตัว มีตัวหนึ่งที่แบ่งกันใช้กับน้องสาว, เป็น CD หนึ่ง, และเป็น CD MP3 ที่เอาไว้เล่นแผ่นปั๊มของประเทืองบนรถอีกตัว แต่กว่าจะได้พกพาเครื่องเล่นเพลงติดตัวเป็นประจำอย่างจริงจังก็ตอนมี iPod เครื่องแรกเมื่อปลายปี 2003 ก่อนจะตามมาด้วย iPod รุ่นอื่นๆ และ iPhone ที่ใช้เป็นหลักมาเกือบสองปีแล้ว

ในแต่ละช่วงของการเปลี่ยนเครื่องเล่นไปพร้อมกับการเปลี่ยนสื่อบันทึกเสียง พฤติกรรมการฟังเพลงก็จะเปลี่ยนไปด้วย

  • สมัยที่ใช้เทปก็จะฟังเพลงตามลำดับไปจนหมดอัลบั้ม อาจจะมีความพยายามในการจัดอัลบั้มเองจากเทปหลายม้วนเพื่อสร้างอัลบั้มพิเศษ ไม่ว่าจะให้ตัวเอง หรือเป็นของขวัญให้คนรอบข้าง เพลงไหนถูกใจมากก็กรอกลับไปฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ยังจำได้ไม่ลืมว่ามีเพื่อนผู้หญิงคนหนึ่ง อัดเพลง “ยามเมื่อลมพัดหวน” ซ้ำตลอดเทป 1 ม้วน เปิดฟังอย่างไม่รู้ (ว่าคนอื่น) เบื่อ
  • เมื่อเปลี่ยนมาเป็น CD เริ่มตื่นเต้นกับการ random หรือ shuffle ในอัลบั้มเดียว และตั้งโปรแกรมว่าจะเอาเพลงอะไรขึ้นมาก่อน-หลังได้ รู้สึกมีอำนาจในการควบคุมและเลือกเสพย์สื่อตามความต้องการมากขึ้น
  • มาถึงยุค mp3 ครองเมือง ผมมีความสุขกับการฟังเพลงสุ่มจากคลังเพลงที่เริ่มต้นด้วยจำนวนเพลงหลักร้อย ก่อนจะขยายเป็นหลักพันและหลักหมื่น ตั้งแต่ก่อนที่จะมี iPod shuffle หลายปีอยู่

จากที่เคยต้องตัดสินใจเจียดค่าขนมมาซื้อเทป ชุดไหนชอบหน่อยก็ซื้อ CD กว่าจะได้แต่ละชุดต้องคิดแล้วคิดอีก ฟังไปเปิดอ่านเนื้อบนหน้าปกไป บางครั้งเปิดดิกแปลเนื้อเพลงอีกต่างหาก บางทีไล่ดูชื่อนักดนตรีจนรู้ว่าใครเล่นให้วงไหนมาบ้าง ตามไปศึกษาจนได้เปิดโลกของตัวเองให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าเป็นการใช้เวลาในช่วงชีวิตวัยรุ่นที่มีรสชาติ และได้ดื่มด่ำกับความสนใจของตัวเองอย่างลึกซึ้ง จนอิทธิพลของเพลงที่เลือกฟังส่งผลไปถึงความสนใจอย่างอื่นรอบตัว และกลายเป็นเหตุผลพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ทำให้เลือกเป็นนักออกแบบกราฟิกในทุกวันนี้

ในขณะที่ตอนนี้ผมสามารถเลือกซื้อเพลงได้โดยไม่ต้องคิดมาก ซื้อ iPod เครื่องใหม่ได้ทั้งที่เครื่องเก่ายังไม่พังโดยไม่เดือดร้อน บวกกับความสะดวกในการเลือกเพลงออกมาจากคลังของตัวเองที่แทบไม่มีขีดจำกัด อยากฟังอะไรก็ได้ฟังในไม่กี่วินาทีหลังจากสั่ง search แต่เวลาและความลึกซึ้งที่ให้กับเพลงสักอัลบั้มหนึ่ง หรือแค่เพลงหนึ่ง กลับน้อยลงอย่างน่าใจหาย บางครั้งดาวน์โหลดเพลงมาโดยไม่สนใจอะไรอื่นนอกจากปกอัลบั้มที่อาจจะเป็นไฟล์ภาพขนาด 300 x 300 พิกเซลเท่านั้น ไม่รู้ว่ากี่ปีมาแล้วที่ไม่ได้ฟังเพลงอัลบั้มใหม่ที่ซื้อแผ่นมาอย่างตั้งใจแล้วรู้สึกตื่นเต้นจนอยากค้นหาอะไรให้ลึกลงไปอีกเกี่ยวกับวงดนตรีนั้น เกี่ยวกับดนตรีแนวนั้น เกี่ยวกับแนวคิดในเพลงนั้น…

เพราะความที่รู้สึกว่าชีวิตกำลังดำเนินไปโดยถูกกดปุ่ม fast forward ค้างไว้นี่มันไม่ค่อยสุนทรีย์นักกระมัง เมื่อปีที่แล้วผมจึงซื้อเครื่องเสียงชุดเล็กๆ มาตั้งอยู่ในบ้านที่มี iPod และลำโพงอยู่พร้อมสรรพแล้ว วันดีคืนดีก็หยิบ CD อัลบั้มที่มีความหมายกับชีวิตช่วงวัยรุ่นของตัวเองมานั่งฟังตั้งแต่ต้นจนจบ เหมือนเป็นการคารวะศิลปินที่มีอิทธิพลกับการดำเนินชีวิตของตัวเองในช่วงนั้นจนมาถึงปัจจุบันอีกครั้งหนึ่ง

กลับมาที่ Walkman และบทความของ BBC, มองย้อนกลับไปแล้วก็นึกขำ ความเท่ ความเก๋ ความล้ำ ในช่วงวัยเด็กของคนอายุย่างสามสิบเอ็ดเช่นผม กลายเป็นความล้าสมัย ไม่สะดวก ไม่ทันใจ และน่าหัวเราะของเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ อีกยี่สิบปีเครื่องเล่นเพลงพกพาจะเป็นอย่างไรนะ? พฤติกรรมการเลือกฟังเพลงจะเป็นอย่างไรนะ? และจะมีการนำ iPod มาให้เด็กวัยรุ่นยุคนั้นทดลองใช้เทียบกันอย่างนี้ไหมนะ? อยากรู้จริงๆ

One Response to “Walkman อายุครบ 30 และพฤติกรรมการฟังเพลงของคนอายุย่าง 31”

  1. AdenArine Says:

    November 5th, 2009 at 17:42

    ของผมซาวด์เบาส์ตัวแรกซื้อ aiwa
    อ่านแล้วก้อนึกถึงตัวเองเหมือนกัน
    “จากที่เคยต้องตัดสินใจเจียดค่าขนมมาซื้อเทป ชุดไหนชอบหน่อยก็ซื้อ CD กว่าจะได้แต่ละชุดต้องคิดแล้วคิดอีก ฟังไปเปิดอ่านเนื้อบนหน้าปกไป บางครั้งเปิดดิกแปลเนื้อเพลงอีกต่างหาก บางทีไล่ดูชื่อนักดนตรีจนรู้ว่าใครเล่นให้วงไหนมาบ้าง ตามไปศึกษาจนได้เปิดโลกของตัวเองให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ ”

    ยังงัยยังงั้นเลย เทปราคา 60-90 ซีดีราคา 450+ จะซื้อไรหล่ะ ในวัยทีเรายังไม่รู้จักหาตังค์เอง(ใช้คำนี้หล่ะกันสำหรับตัวผม)
    แต่ก้อรู้สึกว่าตัวเองโชคดี ที่เราอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวของการเปลี่ยนแปลง(คือยังรู้จักน่ะ แผ่น12″ 7″ อันนี้เทป อันนี้ CD , MD , MP3 , LD , VDO , DVD , BD ชักเลอะ)
    แต่เด๋วนี้ถามน้อง ไม่รู้จัก เทปแล้ว คงมองเหมือนเรามองแผ่น 12″ สมัยรุ่นคุณพ่อ

    ใครจะรู้ว่า format ต่อไปจะเป็นอะไร ในเมื่อยัง CD ยังน่าสะสมและคงทนกว่ารูปแบบอื่นในตอนนี้

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.