Pitching Fee

เมื่อวานนี้มี (ว่าที่) ลูกค้ารายใหม่ ติดต่อเข้ามา อยากจะจ้างบริษัทของผมออกแบบ identity ให้ หลังจากได้คุยรายละเอียดผลิตภัณฑ์คร่าวๆ แล้วจึงเฉลยว่าจะต้องแข่งกับอีกสองสามราย อยากให้เข้าไปรับบรีฟแล้วเสนอผลงานร่างแรกกลับมาพร้อมกับราคา ผมจึงตอบไปว่า “ต้องมีค่าใช้จ่าย”

ในมุมมองของผม การออกแบบกราฟิกคือธุรกิจบริการ มีต้นทุนคือเวลาและพลังสมอง มีผลิตผลเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าทำงานไปให้ฟรีๆ แล้วลูกค้าถูกใจแบบของผม แต่ถูกใจราคาของผู้ให้บริการรายอื่น ก็ไม่มีหลักประกันใดว่าจะไม่ถูกนำเอาแบบไปให้รายอื่นทำต่อ หรือเก็บไว้ทำเอง ถ้ามองโลกในแง่ร้าย ต่อให้มีค่าเหนื่อยให้ ก็อาจจะถูกนำแบบไปใช้ได้อยู่ดี แต่อย่างน้อย ไม่ต้องทำงานฟรี

ผมยินดีไปรับบรีฟ ยินดีเสนอราคาและแผนงานมาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เมื่อไรที่ต้องลงแรงทำไป โดยเอางานไปแข่งกับรายอื่น ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย และเงินก้อนนี้ จะคิดเป็นเปอร์เซนต์เล็กน้อย เมื่อเทียบกับค่าบริการทั้งหมด ซึ่งถ้าบริษัทของผมได้รับเลือก ก็นำเงินค่าประกวดแบบตรงนี้ ไปหักออกจากค่าบริการ เท่ากับว่าผู้ว่าจ้างไม่ต้องเสียเงินเพิ่มให้เปล่าๆ

ในมุมมองของคุณลูกค้า เขาถือว่าความที่ไม่เคยทำงานด้วยกัน ย่อมยังไม่รู้ฝีมือกัน ไม่แน่ใจว่าควรจะเสียเงินให้หรือไม่ ไม่อาจเชื่อได้ว่าผลงานที่เห็นบนเว็บของบริษัทเป็นเครื่องยืนยันความน่าเชื่อถือ หรือความตรงใจได้ทั้งหมด นี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เช่นกัน

หลังจากต่างฝ่ายต่างอธิบายความตั้งใจของตนแล้ว ผมเสนอว่า “ให้ค่าประกวดแบบเป็นจำนวนเงินที่ทางลูกค้ากำหนดก็ได้ ให้ทุกรายได้ค่าเหนื่อยเท่ากัน แล้วแต่ละรายจะได้ตัดสินใจโดยพิจารณาจากกติกาและเงื่อนไขต่างๆ ของการแข่งขันครั้งนี้เอง” แน่นอนว่า ผมเชื่อว่าจะมีคนยอมทำฟรี แต่สิ่งที่ผมเรียกร้อง ไม่ได้เพื่อตัวเอง แต่เพื่อให้เพื่อนร่วมอาชีพทุกรายได้ประโยชน์เท่ากัน แม้ว่าผมจะยังไม่รู้ว่าคู่แข่งรายอื่นเป็นใครก็ตาม

จุดยืนของผมมาจากไหน? ในกิจการของครอบครัว เมื่อจะมีการสร้างอาคาร จะมีการจัดประกวดแบบขึ้นด้วยเงื่อนไขคล้ายๆ กัน กล่าวคือ เมื่อสถาปนิกส่งแบบเข้าประกวด จะได้รับค่าตอบแทนก้อนหนึ่งไปทุกรายเป็นจำนวนเงินเท่ากัน หลังจากคัดเลือกแล้ว ผู้ได้รับคัดเลือกจะต้องหักเงินค่าประกวดแบบออกจากค่าแบบ ผมเชื่อว่านี่เป็นน้ำใจ, ความยุติธรรม และความเคารพในวิชาชีพที่ครอบครัวของผมมอบให้สถาปนิกเสมอมา เมื่อตัวผมอยู่ในฐานะผู้ให้บริการ ผมก็ต้องการน้ำใจ, ความยุติธรรม และความเคารพในวิชาชีพเช่นเดียวกัน

เรื่อง pitching fee กับวงการกราฟิกในประเทศไทย ยังเป็นเรื่องที่พูดกันไม่จบ หลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ ก็ขอใช้พื้นที่ส่วนตัวตรงนี้ประกาศจุดยืนของตนเองไว้ หวังว่าเพื่อนร่วมอาชีพทั้งหลายจะเห็นตรงกัน

23 Responses to “Pitching Fee”

  1. เห็นด้วยเป็นอย่่างยิ่งครับ!

  2. ขอบคุณครับ หวังว่ามันจะเป็นจริงในเร็ววัน

  3. ขอบคุณด้วยอีกคนค่ะ ก็หวังเช่นกันว่าจะเป็นเช่นนี้ได้ในไม่ช้า

  4. วันนี้ผมพึ่งเจอกับตัวเรื่องเงินค่าออกแบบ โดนหลอกให้ทำไปก่อนจนได้ สุดท้ายก็ไม่เอาทั้งที่บอกว่าให้เราออกแบบจริงๆจังๆ พลาดอย่างแรง

  5. ดีครับ…ขอบคุณสำหรับการช่วยย้ำจุดยืนให้กับคนที่ทำอะไรคล้ายๆแบบนี้
    ขอให้ศิลปินและนักสร้างสรรค์ไทยมีจุดยืนที่แข็งแรง…สู้ต่อไป…แรงใจไม่มีวันหมด

    เหอๆ

  6. เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ

  7. ดีมากเลยครับ ส่วนใหญ่ถ้างานทำไปแล้วไม่ผ่านจะต้องทำฟรี เหนื่อย

  8. เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ และชื่นชอบในจุดยืนของคุณวีร์มาก
    งานที่เกิดจากมันสมองต้องมีค่าตอบแทน เมื่อไรลูกค้าคนไทยจะยอมรับ
    ยอมเข้าใจสักที

  9. ไม่รู้สินะครับ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ทำงานออกแบบอยู่เหมือนกัน แต่ผมมักคิดสวนทางกับมวลหมู่นักออกแบบทั้งหลายว่า

    “การ BID หรือ PITCH เพื่อแย่งงานระหว่างนักออกแบบทั้งหลายด้วยกันเอง (คนในอาชีพเดียวกัน) มันไม่สมาร์ทตั้งแต่ความคิดแล้ว ยังไม่ต้องไปบอกลูกค้าว่าต้องมีค่าใช้จ่ายเลยด้วยซ้ำ”

    สมัยก่อน ผมเคยทำงานออกแบบให้ เอสโซ่ ตั้งแต่ หนังสือความรู้คือประทีป วารสารเอสโซ่สัมพันธ์ แผ่นพับโฆษณาน้ำมันเครื่อง แคตตาล็อกสินค้าพรีเมี่ยม สติกเกอร์ติดรถ ป้ายแบนเนอร์ติดปั๊มน้ำมัน โดยที่ไม่เคยแข่งกับใคร เมื่อมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหาร (เป็นธรรมเนียมของบริษัทข้ามชาติ) ก็เอานโยบาย BID มาใช้ เริ่มจากปฏิทิน เขาถามว่าจะ BID ไหม ผมก็บอกว่า “ผมไม่ชอบแข่งกับใคร ถ้าเห็นว่าผมทำได้ก็จ้างผม ถ้าคิดว่าผมทำไม่ได้ก็จ้างคนอื่นไป” หลังจากนั้นมา งานเอสโซ่ทุกๆ งาน ก็เริ่มห่วยลง (ไม่ได้อวดตัวว่าเก่งนะครับ – แค่เล่าเรื่องราว) แล้ว เอสโซ่ ก็เงียบไป จนถึงทุกวันนี้

    ดังนั้น นักออกแบบมีฝีมือไปก็เท่านั้น (ผมไม่เคยศรัทธา เพราะงานออกแบบไม่มีอะไรผิดอะไรถูก มันจะผิดก็ต่อเมื่อคุณใส่เบอร์โทรลูกค้าไม่ถูกต้อง หรือกำหนดให้ตัวอักษรเป็นสีน้ำเงินบนพื้นสีดำ และส่วนใหญ่ 99% งานออกแบบทุกชิ้นจะไม่ถูกเก็บไว้ในสารบบพิพิธภัณฑ์ของลูกค้าแม้แต่ชิ้นเดียว ใช้แล้วก็หมดสภาพไป)

    ไม่รู้ว่าจะเคยคิดกันบ้างหรือเปล่า
    “ระหว่างศักดิ์ศรีของวิชาชีพ กับปริมาณเงินค่าจ้างที่ถูกกดให้ต่ำลง อันไหนสำคัญกว่ากัน”

    ทั้งชีวิตที่ทำงานออกแบบมา 30 ปี ตั้งแต่สมัยใช้ลังกระดาษลูกฟูกกับแผ่นไม้อัดเป็นโต๊ะทำงาน ผ่านยุคที่ต้องซื้อแม็คอินทอชทั้งชุดราคาแพงเท่าทาวน์เฮ้าส์ จนมาถึงยุคที่ทำงานไกลจากลูกค้า 600 กม. ผมไม่เคย BID ราคากับใคร และไม่เคยเข้าไป PITCH งานที่ไหนเลยสักครั้ง ผมให้เกียรติต่อวิชาชีพที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องครอบครัวผม ให้เกียรติคนในวิชาชีพเดียวกันทั้งๆ ที่ไม่รู้จักมักจี่ และทั้งๆ ที่ไม่เคยผ่านการเรียนออกแบบจากสถาบันไหนมาเลยในโลกใบนี้

    นักออกแบบที่อ่านข้อความนี้บางคนหรือหลายคนอาจด่าผมในใจแล้ว แต่ไม่เป็นไร มันไม่มีผลทั้งทางบวกและลบสำหรับตัวผม (เพราะทุกวันนี้ ผมด่าลูกค้าประจำของผมได้ แต่พวกคุณอาจจะยัง) แต่มันจะเป็นผลดี ถ้านักออกแบบที่คิดว่าตัวเองเลิศเลอทั้งหลาย จะหยุดคิดและพิจารณาว่าพวกคุณกำลังจะทำอะไร ทั้งเพื่อตัวเอง เพื่อสังคมคนออกแบบด้วยกัน รวมไปถึงเพื่อวิชาชีพที่คุณกำลังใช้หาเลี้ยงปากท้องกันอยู่

    เหมือนกับบล็อกเรื่อง “ปกหนังสือรุ่น” ที่คุณภูมิใจนักหนา แต่ดูเหมือนคุณไม่ได้ภูมิใจในอาชีพของตัวเอง ไม่ได้ทำคุณงามความดีให้กับคนรุ่นหลังสำหรับใช้เป็นบรรทัดฐาน คุณจะรู้สึกยังไง ถ้าเด็กรุ่นลูกรุ่นหลานมันสุมหัวกันด่านักออกแบบยุค 2K ว่า “มันทำแบบอย่างที่ไม่ดีให้ลูกค้านิสัยเสียกันไปหมด”

    อย่ามัวแต่ฝักใฝ่เรื่องการจะได้งานจากบริษัทใหญ่โตกันอยู่เลย CENTRAL หรือ BIG C ผมไม่เคยสนใจหรอก แต่คิดมาตลอด 30 ปีเหมือนกันว่า เมื่อไหร่ “ลูกค้าจะเดินเข้ามาหานักออกแบบ เพราะต้องการความเป็นมืออาชีพ” ก็ได้แค่คิด (อยากรู้ว่าความคิดแบบนี้มันไม่ดีตรงไหน ยังไง ใครช่วยอธิบายหน่อย เอาแบบมีเหตุมีผลนะ ไม่ชอบพวกใส่อารมณ์)

    ซึ่งผิดกับพวกนักออกแบบจากสถาบันอันลือชื่อ แต่กลับคิดได้เพียง “ที่ไหนมีงานให้ PITCH อีก(วะ)” แล้วก็เที่ยวหอบข้าวของพะรุงพะรังเข้าไปหาลูกค้า ทำทีท่าอธิบายที่มาที่ไปของความคิด ของงานออกแบบ ในที่ประชุม เสร็จแล้วก็ขนข้าวของกลับออฟฟิศ รอพระเจ้ามาโปรด เหมือนพวกซื้อหวยแล้วรอลุ้นเลขของตัวเองไม่มีผิด….

    ผมเคยตามเพื่อนไปดูมันพรีเซ็นต์แล้ว…นั่งนึกในใจ …อนิจจา…มันน่าอนาจ ดูหน้าคนฟังเหมือนว่าจะเข้าใจ แต่ดูแววตาแล้วรู้เลยว่ามันไม่รู้เรื่องหรอก เข้ามานั่งให้เต็มๆ ไปงั๊นแหละ เพื่อให้ดูสมกับเป็นองค์กรใหญ่ บางคนไม่ได้ฟังด้วยซ้ำไป

    ทีนี้…เข้าประเด็น

    ในฐานะที่คุณก็เป็นนักออกแบบคนหนึ่ง (ที่มีอันจะกิน) เป็นถึงอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาด้านงานออกแบบต่างๆ เป็นถึงผู้บรรยายที่มีคนฟังและศรัทธาในความเป็นมืออาชีพ มันมีประโยชน์แค่น้อยนิดเดียวเอง หากเสียงของคุณดังอยู่แค่สังคม wordpress เล็กๆ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว อายุงานของคุณก็จะสั้นลงทุกปี ทุกปี อีกด้วย และคุณมีสังคมเป็นนักออกแบบเหมือนกัน มีรุ่นพี่รุ่นน้องที่ล้วนเป็นผู้อยู่ในสายวิชาชีพเดียวกัน และมีพลังมากพอ

    จะดีกว่าไหม หากคุณจะเป็นตัวตั้งตัวตี ในการจรรโลงโลกนักออกแบบของไทยให้มีอนาคตสดใสและสามารถยึดเป็นอาชีพได้จนวันตาย จะดีกว่าไหม ที่คุณสามารถสะกดลูกค้าทุกราย (ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่) ต้องเป็นฝ่ายเดินมาหานักออกแบบ ไม่ใช่เรียกนักออกแบบไปรับข้อมูลมาทำการบ้านแล้วก็ไปแข่งขันกันเพื่อจะได้รับงานซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีมูลค่ามโหฬารแต่อย่างใด และมันคงดีกว่ามานั่งโพสข้อความในบล็อกแบบนี้ (ผมเห็นมีอยู่หลายคน)หากคุณจะใช้คุณสมบัติส่วนตัวของคุณ สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้วงการออกแบบ และสร้างคุณค่าของวิชาชีพออกแบบให้คนไทยทุกคนยอมรับ (ยังไม่จำเป็นต้องไปถึงเมืองนอกหรอก)

    แค่นี้ก่อนนะ ถึงเวลาอาหารรอบดึกแล้วครับ

  10. ขอบคุณความเห็นของคุณ David Zure นะครับ

    ผมเห็นด้วยเรื่องการปกป้องศักดิ์ศรีของวิชาชีพ เห็นด้วยเรื่องไม่ควรจะมีการ bid หรือ pitch ด้วยซ้ำ แต่อาจจะยังไม่เข้มแข็งเท่าคุณ จึงหาทางออกด้วยการตั้งเงื่อนไขว่า pitch ได้ ถ้ามีค่าใช้จ่ายตามสมควร

    ผมมีเรื่องในส่วนที่ผมได้ร่วมกับเพื่อนๆ พี่ๆ ร่วมวิชาชีพที่มีอุดมการณ์ร่วมกันกำลังพยายามผลักดันมาแชร์ให้ฟังเล็กน้อยครับ เรื่องมีอยู่ว่าเราได้รับการติดต่อจากหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งเพื่อทำการประกวดแบบ แต่ทั้ง 4 บริษัทเลือกที่จะไม่แข่งกัน แต่ช่วยกันทำ เพราะถือว่าเป็นการร่วมกันทำงานให้ภาครัฐ โดยที่หน่วยงานนั้นได้ทางเลิือกที่เราช่วยกันทำเต็มที่ไปเสนอ 4 ทางเลือก ตามจำนวนที่ต้องการ โดยเราหวังว่ามันจะกลายเป็นกรณีศึกษาหรือทางเลือกใหม่ของกระบวนการสรรหานักออกแบบมาทำงานให้ภาครัฐ ถ้าเรื่องนี้สำเร็จได้จริงก็จะมีบันทึกอย่างเป็นทางการมาให้ได้รับรู้กันครับ

    ส่วนเรื่องที่ผมจะทำงานสายนี้ไปได้นานแค่ไหน ตอนนี้ผมเลือกทุ่มเทให้งานที่ทำให้ผมอยากตื่นเช้ามาทำงานทุกวัน มากกว่างานที่ทำแล้วไม่มีความสุขครับ

  11. อ้อ แถมท้ายนิดนึง เผื่อวันหลังไม่มีโอกาสมาต่อ

    …แต่จะว่าไปนะ บางที คุณอาจไม่ได้ทำงานในวงการออกแบบจนยาวนานถึง 30 ปีเหมือนผมก็ได้ เพราะคุณมีกิจการอื่นๆ ของครอบครัวที่ดีกว่าอยู่แล้ว และแล้ว ทุกอย่างมันก็จะเงียบหายไปกับสายลม …ผมว่านะ

  12. การ pitch งานมองในด้านหนึ่ง ก็คือการเปิดโอกาสให้บริษัทใหม่ๆ หรือน้องๆ ที่เพิ่งเรียนจบมีโอกาสได้งาน โดยการแข่งกันเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

    ผมรับได้นะครับกับการ pitch งาน หากว่ากฎ กติกา การตัดสินต่างๆ มีความยุติธรรม โปร่งใส แต่หากมีการจ่ายสินบน ล็อคเสป็ค หรือผลการคัดเลือกสร้างความเคลือบแคลงใจแก่บริษัทอื่นๆ อันนี้สังคมนักออกแบบควรร่วมกันต่อต้าน

    ผมเห็นด้วยนะครับกับจุดยืนในการไม่ pitch งานของคุณ David Zure ถ้าให้เลือกระหว่างการมีลูกค้าเดินเข้ามาว่าจ้าง กับการออกไป pitch งาน ผมคิดว่านักออกแบบทุกคนในโลกนี้คงไม่มีใครอยากจะเข้าไป pitch งานหรอกครับ เพราะมีความเสี่ยงมากและงานจะยุ่งยากกว่ากรณีที่ลูกค้ามาเพราะไว้ใจในงานเรา

    แต่หากว่าประเทศเราลูกค้ายังมองไม่เห็นคุณค่าของงานออกแบบ นักออกแบบยังมองไม่เห็นค่าของตัวเอง การ pitch แบบมีกฎกติกาที่ดี มีการเรียกบริษัทในจำนวนที่เหมาะสม มีค่าตอบแทนให้บริษัทที่ร่วม pitch ผมว่ามันก็น่าจะเป็นพัฒนาการที่เป็นจุดเชื่อมไปสู่การไม่ pitch งานที่มากขึ้นในอนาคตนะครับ

  13. แวะมาทักทายอีกครั้งครับ ตอนนี้มีงานรออยู่ แต่ยังไม่มีอารมณ์ทำงาน (ต้องรอตอนสงัด)

    ก่อนอื่น ต้องขอบคุณในความใจกว้าง เปิดใจ และกล้าที่จะรับฟังคำวิจารณ์ของผู้อื่น ซึ่งทุกวันนี้นับว่าจะหาได้ยากยิ่ง ตอนแรกคิดว่าจะโดนด่าเหมือนตอนไปโพสเรื่องสีเสื้อของคนไทยใน okNATION ผ่าน facebook ซะแล้ว (ตอนนี้ถูกแบน ID แล้ว เขาไม่ยอมให้โพสเรื่องที่ตีแสกหน้าคนไทยได้แบบเต็มเหนี่ยว)

    ดีครับ ที่ความเห็นต่างๆ ส่วนใหญ่จะไปในทิศทางที่ก่อให้เกิดผลดีกับวงการ ซึ่งการแชร์ประสบการณ์จะช่วยให้มองเห็นภาพในวงที่กว้างขึ้น เพราะผมเอง ทุกวันนี้ก็ยังคงต้องเรียนรู้อะไรๆ อีกหลายต่อหลายเรื่อง ในสิ่งที่ตัวเองยังไม่เคยเห็น ยังไม่เคยผิดพลาด การที่เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นจะมีประโยชน์มาก เพราะหากเราเห็นความผิดพลาดของคนอื่น เราย่อมต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มันมาเกิดขึ้นกับตัวเรา และยิ่งเราได้รู้ถึงการเอาชนะอุปสรรคของใครต่อใครได้ มันทำให้ตัวเราแข็งแกร่งมากขึ้นเท่านั้น

    แต่การแข็งแกร่งที่ว่า ไม่ควรถูกใช้เพื่อเอาชนะพวกพ้องน้องพี่ในวงการเดียวกัน ถึงแม้ผมไม่เคยแข่งกับใครก็ตาม (ไม่เคยส่งงานประกวดเลยด้วยซ้ำ) แต่สิ่งที่ผมเคยได้เรียนรู้มาจากนักออกแบบรุ่นก่อนๆ ไม่ว่าจะเป็นอาร์ตไดฯ ที่ฟาร์อีสต์ แอดฯ / ครีเอทีฟ ไดฯ ที่ชูโอเซ็นโกะ / และอีกหลายต่อหลายบริษัท (สมัยเริ่มแรกกับวิชาชีพนี้ ผมทำงานเป็น artist ฝึกหัด อยู่ที่ graphico ไม่เคยเรียนออกแบบมาก่อน มาฝึกการทำอาร์ตเวิร์คเลย ได้เห็นเลย์เอ้าท์ที่ส่งมาสั่งตัวเรียงคอมพิวท์จากบรรดาเอเยนซี่ใหญ่ๆ เกือบทุกชิ้นงานก็ว่าได้) ทั้งมีเพื่อนรุ่นพี่ที่ทำงานด้าน PR ร่วมกับพวกฝรั่ง เห็นวิธีทำงาน วิธีการนำเสนอ ได้ยินได้ฟังในสิ่งที่พวกเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมา

    ผมสรุปจากข้อมูลทั้งหมดได้ว่า…

    การ PITCH งาน เกือบ 95% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมด ล้วนเป็นพิธีการลวงโลกทั้งสิ้น พวกเขามีเป้าหมายเอาไว้แล้วว่า ใครจะเป็นคนได้งานชิ้นนั้นไปทำ พวกเขาไม่ใช่นักธุรกิจมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ จึงจะไม่รู้จักใครเลย ไม่มีสังคม ไม่มีเพื่อนฝูง ผู้บริหารองค์กรส่วนใหญ่ กว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ ถ้าไม่ใช่พวกที่เพิ่งอาศัย “เส้นเตี่ย” ถีบเข้ามา เขาก็ต้องเคยรู้จักนักออกแบบมาแล้วทั้งสิ้น อย่างน้อยก็หนึ่งคนที่อาจเคยได้สัมผัสหรือร่วมงานกัน ถ้าอย่างมากก็เป็นโขยง (รู้จักทั้งบริษัท) มีหรือที่พวกเขาจะไม่รักษาสัมพันธ์อันดีต่อกันไว้ หากเคยไปนั่งฟังเพลงในผับเดียวกัน หรือไปนวดแถวๆ สุทธิสารด้วยกันมาก่อน

    ความคิดในส่วนการรวมกันเสนองานให้ลูกค้าของคุณวีร์ มันเป็นความคิดที่ดีที่จะช่วยให้วงการมีสีสันที่แปลกใหม่และเริ่มต้นไปสู่พัฒนาอื่นๆ ได้ แต่จากประสบการณ์ของผมนั้น (อาจคิดผิดก็ได้นะ…อย่าซีเรียส) คิดว่ามันเกิดขึ้นได้ยาก เพราะ…

    1.) จากผู้ออกแบบรายใดรายหนึ่งที่ถูกเรียกให้เข้ามา PITCH งาน หากเขารู้อยู่แล้วว่าจะได้งานนี้แน่ๆ เขาจะยอมร่วมกับอีก 3 รายไปทำไม? …

    2.) จากลูกค้าเองซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐ พวกนี้อยู่ในวังวนของคอร์รัปชั่นจนซึมเข้าถึงกระดูกดำแล้ว พวกคุณไม่รู้หรอกว่ามันรุนแรงขนาดไหน (น้องผมเป็นข้าราชการฝ่ายบัญชีกระทรวงศึกษาฯ อยู่ ตจว. ผมรู้ว่าระบบราชการเป็นอย่างไร ตัวผมเองเป็นทหารพรานตั้งแต่อายุ 18 เล่นดนตรีในหน่วย ปจว. ของกองทัพภาค 1 ยุคที่ป๋าเปรมถูกกบถน่ะ ผมรู้เห็นระบบราชการมากพอ ถึงทนอยู่ไม่ได้)

    เพื่อนคนที่ผมเคยตามไปดูเขาพรีเซ็นต์งาน ก็ที่ TOT นั่นแหละ ยุคที่กำลังจะปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์มาเป็นปัจจุบันนี้ ได้เห็นทั้งงานของเพื่อนและงานที่ PITCH ชนะ คุณเป็นนักอัตลักษณ์คนหนึ่ง คงดูออกว่ามันเวิร์คหรือเปล่ากับรูปลักษณ์ปัจจุบัน และผมเคยปรามเพื่อนคนนี้ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าเขาถูกเรียกให้ PITCH งานด้วยแล้ว ว่าอย่าไปทำให้เสียเวลาเลย และมันก็เป็นจริงอย่างที่ผมเตือนไว้ (เพื่อนคนนี้เคยเป็นคนรับผิดชอบกับงานทำลวดลายและสีสันบนเครื่องบินของการบินไทยในยุคเปลี่ยน look มาแล้ว ถามว่าได้งานมายังไง – ก็เขารู้จักกัน เขาก็เรียกให้ไปรับงาน มันก็เท่านั้น มีคนเข้าไป PITCH ด้วยเหมือนกัน แต่คนอื่นไม่ได้ เพราะเขาวางตัวคนที่จะได้เอาไว้แล้ว นี่แหละ รู้ทั้งรู้ว่าตัวเองก็เคยเล่นแบบนั้นมาก่อน ไม่รู้จักจำ)

    ทีนี้ การที่จะหาเหตุผลว่าทำไม ในเมื่อมีคนถูกวางตัวไว้แล้ว จึงจะต้องทำการ PITCH อีกให้เสียเวลา
    คำตอบง่ายนิดเดียว… เพราะคนได้รับผลประโยชน์ต้องการ “รอดพ้น” จากการถูกตรวจสอบว่าไม่โปร่งใส ตามนโยบายขององค์กรที่ (ถูกจัดว่า) มีมาตรฐานไงล่ะ

    ทุกที่มีคอรัปชั่นหมด ไม่ว่า…กระทรวงการคลัง กระทรวงท่องเที่ยว กระทรวงเกษตร กระทรวงศึกษา กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม และ ฯลฯ (แปลว่าทุกกระทรวงนั่นแหละ)
    และเมื่อราชการเป็น ธุรกิจเอกชนย่อมต้องตกบันไดพลอยโจนไปกับเขาด้วย ไม่งั๊น “ความสะดวก” จะ “สูญหาย” และ ” รายได้” ก็จะ “หดหัว”

    คนในภาคเอกชนที่เคยหรือต้องติดต่องานกับภาครัฐ ก็จะได้รับเชื้อชั่วเหล่านั้นมากันทุกคน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจิตใต้สำนึกและกมลสันดานของเผ่าพันธุ์ และเมื่อพวกเขามีโอกาสหรือมองเห็นโอกาส จะทั้งเพราะความจำเป็นบังคับหรือไม่ก็ตาม มันมีความเป็นไปได้ 50/50 ที่พวกเขาจะใช้กลวิธีแบบนั้นเพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่าง

    นี่แหละ คือ ที่มาที่ไปของวัฒนธรรมการ PITCH งาน มันมีขึ้น “ไม่ใช่” เพราะเพื่อการแสวงหา “ความเป็นเลิศ” แต่มันเป็นเพียง “ช่องทางเดียว” ที่จะแสวงหา “ผลประโยชน์” ได้ แบบ “มีใบเสร็จฯ”

    แม้แต่โครงการสนามบิน (ผลาญเงิน) แห่งชาติ ผมก็เคยออกแบบ Company Profile ของผู้เข้าประมูลรายหนึ่ง คุณคิดหรือไม่ว่า บริษัทที่กำลังจะเข้า PITCH โครงการระดับชาติ ทำไมไม่ใช้นักออกแบบที่เคยได้รับรางวัลการันตีความสามารถและผลงานมาเป็นคนออกแบบ company profile ให้ล่ะ (โจทย์ที่ไม่ต้องการคำตอบครับผม)

    แต่ยังไงก็ขอเอาใจช่วยครับ อยากให้ความคิดของผมมันผิดน่ะ จะได้มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้น ถึงจะเป็นเพียงแค่จุดเล็กๆ ก็ตามที

  14. ส่วนอีกหนึ่งความเห็นของคุณ Siam (ไม่แน่ใจว่าใช่คุณ สยาม โมราราย หรือเปล่า ถ้าใช่ ก็สวัสดีครับ น่าจะรุ่นเดียวกันกับผมนะ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ขออภัยด้วย) ก็น่าจะอ้างอิงไปถึงเนื้อหาของผมในย่อหน้าก่อนๆ ได้นะครับ จากสิ่งที่เคยผ่านตาแล้วถูกกลั่นกรองเข้าสู่สมองเพื่อประมวลผล จากนั้นก็เก็บบันทึกไว้ในระบบความทรงจำ ของผม มันเป็นสิ่งที่ยืนยันได้อย่างหนักแน่นและมั่นคงว่า…

    ไม่มี “ความยุติธรรมใดๆ ในโลกใบนี้” อย่างที่เข้าใจกันแบบผิดๆ อยู่หรอกน่า เชื่อเหอะ

    1.) กฎหมาย ในยุคแรกๆ ถูกออกแบบมาเพื่อคุ้มครองชีวิตและปกป้องทรัพย์สินคนระดับบน หรือที่เรียกกันว่า “คนมีเงิน” นั่นแหละครับ มันเป็นอารยธรรมมาจากฝรั่งที่หวงสมบัติและกลัวตาย จึงทำการประชุมกัน และตั้งหน่วยงานขึ้นมาพร้อมกับการร่างกฎหมายต่างๆ สมัยนั้นปืนเป็นใหญ่ครับ คนชั้นต่ำจึงใช้ปืนเพื่อการให้ได้มาในสิ่งที่ตนต้องการ (มันก็เลียนแบบมาจากการใช้ปืนของพวกผิวขาวชั้นสูง ที่เข้าไปรุกรานอินเดียนแดงนั่นแหละ) ซึ่งนั่นก็คือปัจจัย 4 ที่คนรวยมีใช้และสะสมมากมายจนเหลือเฟือ คนรวยที่กลัวตาย ก็เลยรวมเงินกัน (เรียกว่าภาษีก็ได้มั๊ง) มาจ้างพวกคนจนที่เห็นแก่เงินหรือพวกตกงานไม่มีรายได้ มาฝึกอบรมเพื่อทำหน้าที่รักษากฎหมาย (กลายมาเป็นตำรวจในสมัยนี้นั่นแหละ) ผลพลอยได้ก็เลยตกไปถึงประชาชนทั้งหลายด้วย เพื่อที่จะทำให้เกิดการยอมรับในกฎหมายเหล่านั้น และเพื่อใช้ประชาชนทั่วไป (ชาวบ้าน) มาเป็นข้ออ้างเพื่อการปรับปรุงข้อบกพร่องของกฎหมายที่ยังตกหล่นให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

    2.) ทีนี้ เมื่อกฎหมายมีวัตถุประสงค์ มันจึงไม่มีความยุติธรรม เพราะมันต้องถูกนำไปใช้ในการตัดสินว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด คุณคงเคยเห็นในสังคมและชีวิตจริงอยู่แล้วว่า ตำรวจยัดข้อหาให้ผู้บริสุทธิ์ คนดีติดคุกเพราะ “กฎหมาย (ผมเรียกมันว่าไอ้ตัวซวย)” ผู้บริหารประเทศผิดพลาด ชาติเสียหายสูญเงินนับแสนล้าน ไม่ติดคุก แต่ผู้บริหารบริษัท (เล็กๆ ทุนจดทะเบียนแค่ 1 ล้าน) บริหารองค์กรผิดพลาด เจอคำสั่ง “ล้มละลาย” ผมเองเคยเจอกับตัว เดินอยู่ในขนส่งเอกมัย กำลังรอคนมาจากจันทบุรี มีใครไม่รู้ 4-5 คน มาล้อมผมจะค้นตัว อ้างว่าเป็นตำรวจ ผมไม่ยอมให้แตะต้องตัวเลย ตะโกนดังๆ (ให้คนอื่นได้ยินและหันมาดูด้วย) ใส่พวกมันว่า เดี๋ยวจะล้วงออกมาให้ดูเอง ยืนเฉยๆ อย่ามายุ่มยามกับกระเป๋าผม ตอนหลังถึงได้มารู้จากคนขายตั๋วว่า มันมีการยัดยาม้า (สมัยนั้นยังไม่บ้า) อยู่บ่อยๆ เขาชอบใจที่ผมตะโกนเสียงดังแบบนั้น นี่แหละ มันหาไม่ได้หรอก “ความยุติธรรม” ในสังคมที่มีการแก่งแย่งชิงดี โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ และอาชีพของพวกเราๆ มันก็เกี่ยวข้องด้วยไม่ใช่หรือ ผลประโยชน์น่ะ ถ้าเกี่ยว…ก็ไม่ต้องถามหาความยุติธรรมหรอกน่า ไม่เจอหรอก

    3.) ผมชอบคุยกับคนในหลายๆ อาชีพ เพราะมันจะเห็นมุมมองที่แตกต่าง อย่าง ตจว. นี่ คุณอาจไม่เชื่อว่า โรงพิมพ์ขนาดเล็กๆ ในจังหวัดเล็กๆ ก็ยังอยู่แทบไม่ได้ เพราะการ “คอร์รัปชั่น” ของคนในวงราชการ เมื่อก่อนเขาเคยมีงานพิมพ์จากโรงเรียนบ้าง โรงพยาบาลบ้าง สาธรณสุขบ้าง คือ มีรายได้โดยการรับงานพิมพ์จากหน่วยงานราชการ ว่างั๊นเถอะ มีกี่โรงก็แบ่งๆ งานกันไป เป็นความเอื้ออารีย์แบบท้องถิ่นของคนไทย แต่ตอนนี้ มีเซลส์จากโรงพิมพ์ใหญ่ที่ทุนหนา (ทุนนอกซะด้วย) ตระเวนไปหากินถึง ตจว. ถึงขนาดให้เปอร์เซนต์แก่ผู้รับผิดชอบในการว่าจ้างของหน่วยงานราชการเลยทีเดียว แล้วต่อไปเป็นอย่างไร คุณคงมองเห็นภาพแล้วนะ แม้แต่ประมูลคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนก็เป็น ทุกโรงเรียนในประเทศไทยเลย (อันนี้คุยกับครูใหญ่มาเองเลยครับผม)

    บางคนอ่านแล้วหมั่นไส้ “เอ็งมีข้อมูลมากมายขนาดนี้ แล้วทำไมไม่ไปร้องเรียนหน่วยงานที่เขารับผิดชอบล่ะ?”
    ก็ต้องออกตัวว่า…”ผมไม่เอาเรื่องชั่วๆ ของสมุนโจร ไปเล่าให้หัวหน้าโจรมันฟังหรอกครับ” เพราะขนาดผม “ประชาชนที่ไม่มีหน้าที่” ยังรู้เลย แล้วเพราะอะไรคนที่ “มีหน้าที่” จึงไม่รู้

    กลับมาเข้าเรื่องต่อครับ…

    “การทำให้นักออกแบบหายาก คือการเพิ่มมูลค่าให้กับวิชาชีพออกแบบ” หลักการพื้นฐานเรื่อง demand/supply ไงครับ

    เริ่มจาก…(วิธีคิดของผมนะ แต่ไม่สงวนลิขสิทธิ์)

    1. นักออกแบบที่เปิดกิจการอยู่ ทั้งฟรีแล๊นซ์และบริษัท ควรยุบมารวมกันให้เหลือน้อยหน่วยที่สุด เพื่อให้ลูกค้าไม่มีตัวเลือก คุณรู้หรือไม่ว่า รายจ่ายในส่วนค่าเช่าออฟฟิศของบรรดานักออกแบบที่ทำอาชีพนี้อยู่ทั้งหมด สามารถเช่าอาคารขนาดใหญ่ได้ทั้งอาคารเลยทีเดียว นั่นย่อมหมายความรวมถึงค่าบริหารจัดการในส่วนสำนักงานด้วย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าถ่ายเอกสาร ค่าหมึกพิมพ์อิงค์เจ๊ท หากจะเอาเฉพาะรายจ่ายที่ต้องจ่ายสำหรับเครื่องพิมพ์อิงค์เจ๊ทที่ใช้กันอยู่ทุกคนในขณะนี้ ผมว่าสามารถซื้อเครื่องพิมพ์หน้ากว้าง 15 เมตรได้สบายๆ
    ทีนี้ เมื่อมารวมกัน ก็จะทำให้ค่าโสหุ้ยลดลง นำส่วนต่างนั้น มาตั้งหน่วยงานการจัดการ การรตลาด ประชาสัมพันธ์ บัญชี และการเงิน ที่ทำหน้าที่ตั้งแต่คัดสรรลูกค้า เสนอราคา วางบิล เก็บเช็ค ตามหนี้ จนถึงขึ้นศาล

    2. จัดอบรมแนวคิดเหล่านี้ให้แก่บรรดาครูอาจารย์ในสถาบันออกแบบทั้งหลาย ทั้งในระบบและนอกระบบ ให้เห็นถึงประโยชน์ในแง่ความมั่นคงของการประกอบอาชีพ ที่ทุกวันนี้ ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์ก็ต้องใช้คำว่า “ไม่เสถียร” ละครับ ชักนำพวกเขาเข้ามาร่วมเป็นแนวทางเดียวกันให้ได้ โดยสร้างสื่อของคนออกแบบขึ้นมา ไม่ใช่เพื่ออวดว่างานใครสวยกว่ากัน แต่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์และปกป้องผลประโยชน์แก่เหล่าสมาชิก มีลิสต์รายชื่อลูกค้าสีดำด้วย จึงจะสร้างความน่าเชื่อถือและการยอมรับให้เกิดขึ้นได้ ที่สำคัญ ทำให้อาชีพออกแบบ “มีความเสถียร” มากขึ้น

    3. สร้างมาตรฐานให้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า นักออกแบบอาชีพจะต้องมีใบผ่านงานจากองค์กรนี้ ให้ทุกสถาบันส่งนักศึกษาเข้ามาฝึกงาน แล้วใช้ตัวงานเป็นเครื่องช่วยในการปรับเปลี่ยนความคิด (ล้างสมอง) ให้มองภาพทุกภาพของวิชาชีพในมุมเดียวกัน เห็นเหมือนกัน “เพื่อส่วนรวม”

    สมัยก่อน ผมมีโอกาสเป็นผู้สัมภาษณ์คัดเลือกคนเข้าทำงาน graphic designer ให้โรงพิมพ์หนึ่ง ผมดูผลงานเทียบกับอัตราเงินเดือนที่ต้องการ มีอยู่คนหนึ่ง เพิ่งจบมาจากสถาบัน hypermedia แถวๆ สยามสแควร์ เรียกค่าตัว 12,000.- (สมัยนั้นระดับเกินหมื่นต้องทำงานอยู่ใน agency หรือ production house ไม่ต่ำกว่า 1 ปี) เมื่อคุยดู จึงรู้ว่าทางสถาบันเป็นคนชี้นำเรื่องอัตราเงินเดือน ว่าเมื่อจบไปจะต้องเรียกค่าตัวขั้นต่ำ 12,000.- (เพื่อใช้ดึงดูดให้มีลูกค้าเข้าไปเรียนมากขึ้นมั๊ง – ผมคิดเอง) และมันเป็นสิ่งที่ผิด เพราะว่า เด็กยังขาดประสบการณ์ในการทำงานจริง แล้วงานที่เอามาเสนอก็ยังมีข้อผิดพลาดในทางปฏิบัติจริงอยู่หลายอย่าง แค่ปริ้นท์ออกมาด้วย thermal ก็เลยดูเหมือนสวย

    แต่การสร้างมาตรฐานในความหมายของผมคือ การรู้และเข้าใจกระบวนการทำงานทั้งระบบอย่างถ่องแท้ มีชั่วโมงบินมากพอที่จะไม่ทำงานผิดพลาด มีความเร็วในการผลิตงาน และมีความสามารถในการอ่านความคิดลูกค้า เพื่อลดปริมาณของการทำงานที่ไม่จำเป็น ผมไม่เคยแนะนำหรือเสนองานออกแบบที่ลูกค้าต้องใช้ภาพรีทัชด้วยคอมพิวเตอร์เลยมั๊ง เท่าที่จำความได้นะ ไม่ใช่ทำไม่เป็น เพราะผมใช้ Photoshop มาตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกของ adobe เคยเขียนหนังสือสอน Photoshop ใน MacBasic มาก่อน อีกทั้งเคยรับงานรีทัชภาพจากบริษัทโฆษณามาแล้วในยุคที่ Macintosh เข้ามาไทยใหม่ๆ แต่มันเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้ลูกค้า ลดเวลาการทำงานของตัวเองลง เพราะผมเป็นประเภทที่ทำงานโปรเจคยาวๆ กับเขาไม่เป็น จนพวกที่รู้จักเขาตั้งสมญาว่า “เสือปืนไว”

    …เข้าเรื่องต่อครับ

    3. ใช้ความใหญ่ขององค์กรและปริมาณงานที่มากมายเป็นเครื่องต่อรองกับโรงพิมพ์ในการต่อต้านนักออกแบบนอกรีตที่เห็นประโยชน์ส่วนตนมาก่อนส่วนรวม ทั้งยังสามารถใช้ต่อรองเรื่องราคาวัตถุดิบต่างๆ เช่น ค่ากระดาษ ค่าเพลท ค่าพิมพ์ สารพัด รวมถึงต่อรองเรื่องราคากับลูกค้าได้อีกด้วย

    4. สร้าง Server ของตนเองขึ้นมา เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการใช้เผยแพร่ข้อมูลของบรรดาสมาชิกอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งมีทั้งรายการ TV ผ่านอินเตอร์เน็ท หลักสูตรการเรียนการสอนด้านออกแบบผ่านอินเตอร์เน็ต ทั้ง 2D, 3D, มัลติมีเดีย และภาพยนตร์โฆษณา แบบสมัครเป็นสมาชิกราย 3 เดือน, 6 เดือน หรือ 1 ปี ก็ว่ากันไป สร้างงานต่างๆ โดยไม่ต้องหวังพึ่งลูกค้า งานทุกงานมันขายตัวมันเองได้อยู่แล้ว ทีนี้ สมาชิกทุกคนก็จะมีงานทำ เป็นระบบเครือข่าย ทุกคนก็จะมีรายได้ ไม่มีคำว่า ลูกค้าเช็คเด้ง ลูกค้าเลื่อนวันจ่ายเช็ค ลูกค้าบอก-วางบิลให้ไม่ทัน ผมเคยเจอมาแล้ว ใหญ่ๆ อย่างกู๊ดเยียร์ นิสสัน นี่แหละ ทำอยู่รายละ 2-3 ปี ระบบมันไม่ได้เรื่องมาตลอด ผมอัดกับฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายบัญชี/การเงิน มาแล้วทั้งนั้น ไม่จ้างก็ไม่ง้อว่ะ เมื่อก่อนไม่มีเขาเราก็อยู่ได้ ถ้าไม่มีอีก มันจะแตกต่างจากก่อนมีตรงไหน เพราะตอนนี้ ไม่มี ก็อยู่ได้ปกติ มีระบบแล้วทำตามระบบไม่ได้ จะมีไว้หาสวรรค์วิมานอะไร ผมไม่ชอบการเอาเปรียบครับ และยังแปลกใจว่า นักออกแบบทำไมต้องยอมให้เขาเอาเปรียบอยู่อย่างนั้น ทำเป็นแค่บ่น แล้วก็แลกเช็ค ถ้าอาชีพนี้มันมีแต่แง่ลบ ไปขายก๋วยเตี๋ยวปลาปากซอยยังจะรวยเร็วกว่ามั๊ง

    ยังมีอีกหลายข้อครับ ซึ่งล้วนแล้วแต่แตกแขนงแนวคิดมาจาก “การสหกรณ์” ขององค์ในหลวงของเรานี่แหละครับ

    ตอนนี้หิวแล้ว ขอตัว “มื้อเที่ยง” (ของผม) ก่อนนะครับ

  15. เลื่อนขึ้นไปดูหัวเว็บ ตกใจ ตูโพสผิดที่หรือเปล่าวะ (ก็เว็บนี้มันหัวสีแดงอ่ะ) 555 อย่าซีเรียส

  16. ผมไม่ใช่ Siam คนนั้นครับคุณ David

    ขอมองต่างมุมในเรื่องแนวคิดบริษัทออกแบบที่ต้องยุบรวมกัน อันนี้ผมไม่เห็นด้วยครับ เพราะอาชีพนักออกแบบควรมีความหลากหลาย ทั้งขนาด คุณภาพ ค่าตอบแทน ฯลฯ เหมือนร้านอาหาร มีร้านใหญ่ ร้านเล็ก ภัตตาคาร ในโรงแรม ใครชอบทานอะไร แนวไหน ก็เลือกให้เหมาะกับงบประมาณและความต้องการของตน

    สิ่งที่สังคมนักออกแบบควรทำในความคิดผมก็คือ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ จากมือใหม่ให้มีโอกาสพัฒนาฝีมือและกระบวนการทำงานให้เป็นมาตรฐาน เพื่อให้สามารถรับผิดชอบงานที่ใหญ่ขึ้น ขยับจากแผงลอยข้างทาง มาเป็นร้านอาหาร มาเป็นภัตตาคาร หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เขาเลือกตามศักยภาพของเขา บางคนอยากทำเล็กๆ บางคนอยากขยาย ก็ตามสบายครับ และก็ช่วยกันสอดส่องดูแลบริษัทหรือบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ทั้งฝั่งนักออกแบบและลูกค้า ในกรณีนี้สมาคมนักออกแบบน่าจะมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้ ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพ รวบรวมรายชื่อและสร้างเครือข่ายต่างๆ ตามแนวคิดสหกรณ์ของคุณ David คือสามารถแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรองต่างๆ กับคู่ค้า หรือ Supplier ได้
    วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้อาชีพนักออกแบบ เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีศักด์ศรี และมีความมั่นคงเพียงพอสำหรับใครก็ตามที่จะสามารถยึดอาชีพนี้เพื่อเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ โดยไม่โดนเอาเปรียบ จนต้องเปลี่ยนไปขายก๋วยเตี๋ยวปลาหน้าปากซอยครับ

    รวมๆ ผมเห็นด้วยกับคุณ David นะครับ ทั้งเรื่องลูกค้าแย่ๆ ที่ดึงเงิน เบี้ยวงาน แต่จะว่าไปฝั่งของนักออกแบบเองก็เช่นเดียวกัน มีทั้งดีและแย่ ถ้าเราสามารถสร้างบรรทัดฐาน กฎ กติกา หรือจริยธรรม จรรยาบรรณ ให้คนส่วนใหญ่ (คือลูกค้าและผู้ออกแบบ) รับรู้และปฏิบัติตามได้ คนที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์นี้ ก็ต้องไปเจอและรับความเสี่ยงกับลูกค้าที่ไม่มีระบบ และไม่มีมาตรฐานไปโดยปริยายครับ

  17. ส่วนเรื่องความยุติธรรมเนี่ย ผมก็ไม่แน่ใจนะครับว่ามันจะมีอยู่หรือไม่
    ที่ผ่านมาที่บริษัทก็ pitch งานก็ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจเข้าไป pitch
    จะเป็นบริษัทในข่ายที่ผม ‘เข้าใจว่า’ ยุติธรรมครับ เพราะผลการคัดเลือก เรารับได้ว่า
    เราสู้ไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรครับ แล้วผลงานที่ออกมาก็สอดคล้องกับ
    เหตุผลที่ลูกค้าแจ้งตอนประกาศ ในกรณีอย่างนี้ ผมไม่ติดใจว่ามันยุติธรรมหรือไม่
    สำหรับใคร แต่สำหรับผมยอมรับผลการคัดเลือกนั้นๆ ครับ

    ยิ่งในกรณีที่เรา pitch ได้โดยไม่ได้เสนอผลประโยชน์อะไรกับลูกค้าเลย
    ผมก็ขอสรุปแบบไร้เดียงสาว่ายิ่งมีความยุติธรรมครับ

  18. นอนดึกเหมือนกันเนอะ คุณ Siam …ยินดีที่รู้จักครับ
    ขอเอาที่พิมพ์ไว้มาลงก่อนนะ พิมพ์ในเว็บไม่มันส์น่ะ พอยาวหน่อยมันเลื่อนหนีเรื่อยเลย
    ของคุณ Siam ขอคิวต่อไปนะครับ (หาคนคุยด้วยยามดึกไม่ค่อยมีอ่ะนะ)

    เรียบร้อยแล้วครับ มื้อเที่ยง (ของผม) ข้าวร้อนๆ กับแกงไก่ กินไปก็คิดไป
    ตอนนี้ราคาแกงถุงละ 30 แล้วนะครับ (ขนาด ตจว. นะเนี่ย)
    หากยังมัวมาตัดราคากันเพื่อให้ได้งานละก้อ “แม่ค้าข้าวแกงคงรวยกว่านักออกแบบ”
    ถ้าเป็นยังงั้น แล้วจะเสียเงินเสียเวลาเรียนกันทำไม ค่าเรียนก็ไม่ใช่ถูกๆ
    ไหนจะคอมพิวเตอร์หลักหมื่น ปีหน้าต้องอัพเกรดหรือเปล่ายังไม่รู้
    ไหนจะซอฟท์แวร์ ก็หลักหมื่นอีก เดี๋ยวปีหน้าก็เปลี่ยนเวอร์ชั่นใหม่อีกแล้ว
    ไม่อะไรก็อะไรซักอย่างนั่นแหละ
    ปีหน้า ปริญญาตรีก็จะเริ่มที่ หมื่นห้าพัน แล้ว
    หากคุณจบมาในสายงานออกแบบแล้วตัดสินใจทำอาชีพนี้
    มีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่แล้ว ก็ถือว่าได้เปรียบไปเปลาะหนึ่ง
    แต่ถ้ายังไม่มี หรือต้องจัดหาใหม่ นั่นคือ “ต้นทุนเริ่มต้นธุรกิจ” แน่นอน…คุณเสียเปรียบ

    ทีนี้…หากคุณหางานได้เดือนละงาน (เอาแบบที่มีความเป็นไปได้เฉลี่ยสูงสุดน่ะ)
    แล้วสามารถเรียกราคางานออกแบบนั้นได้งานละ หมื่นห้าพัน ทุกเดือน
    คุณไม่เพียงแค่เสียเปรียบเพื่อนฝูงวงการเดียวกัน ที่เริ่มธุรกิจรุ่นเดียวกัน (ที่ไม่ต้องลงทุน)
    แต่ยังเสียเปรียบพนักงานออฟฟิศตำแหน่งอื่นๆ ที่ใช้วุฒิปริญญาตรีเช่นเดียวกับคุณ
    ลำบากนะ อาชีพนี้… แต่มันก็มีความสุขไม่ใช่หรือ (เฉพาะในวัยหนุ่มสาวน่ะ)
    เพราะมันมีโอกาสได้แสดงความคิด ตัวตน และฝีไม้ลายมือของคุณสู่สายตาสาธารณชน

    เมื่อถึงวัยที่คุณมีภาระ หากคุณไม่มีเงินเก็บหรือเงินออมมากพอ ตอนนั้นมันชักจะเริ่มไม่สนุก
    ยิ่งถ้ารายรับต่อเดือนของคุณไม่แน่นอน ลูกค้าลืมวางบิลให้บ่อยๆ จนเป็นสันดาน
    ฝ่ายบัญชีของลูกค้าลืมเอาเช็คไปให้เจ้านายเซ็น หรือเจ้านายยังไม่กลับจากต่างประเทศเลย
    คุณจะเริ่มรู้จักกับคำว่า “ดอกเบี้ย” โดยอัตโนมัติ และทั้งๆ ที่ไม่อยากรู้จักอีกด้วย

    มันมีอยู่เว็บหนึ่ง ที่นักออกแบบทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นหลายๆ คน ต่างก็คิดว่า…
    นั่นแหละ “วิมาน” ของพวกเขา คิดว่าบางคนคงเคยเห็นแล้วมั๊ง ถ้ายัง … “ตามไปดู” ครับ
    เดี๋ยวนี้เว็บดูดี มีความเป็นมืออาชีพและน่าเชื่อถือขึ้น แถมมีเมนู “วิจารณ์” เพิ่มมาอีกด้วย
    เข้าไปอ่านแล้วก็แหม่งๆ นะ sense ของผมมันจับสัญญาณบางอย่างได้
    ส่วนตัวผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความล้มเหลวของนักออกแบบในบ้านเราได้อย่างชัดเจน

    นักออกแบบที่ไม่สามารถหาลูกค้าได้ด้วยตัวเอง มันก็เหมือนหมาล่าเนื้อแก่ๆ ตัวหนึ่ง
    ที่ต้องคอยให้คนอื่นเอาเศษอาหารมาโยนให้กินประทังชีวิตไปวันๆ ไม่มีประโยชน์ครับ
    พวกเขาไม่รู้เลยว่าหรือลูกค้าของตัวเองอยู่ที่ไหน ใครบ้างที่ต้องการงานออกแบบ
    ถ้านักออกแบบไม่เคยคิดที่จะออกแบบและเผยแพร่ผลงานตัวเองออกไปให้ลูกค้ามองเห็น
    ไม่เคยคิดที่จะใช้สื่อต่างๆ เช่น แผ่นพับ โบร์ชัวร์ โปรไฟล์ หรืออื่นๆ เพื่อนำเสนอตัวเอง
    แล้วจะมีปัญญาทำงานออกแบบที่มีประสิทธิภาพด้านการขายให้กับลูกค้าได้ยังไง
    ทำได้อย่างมากก็เป็นแค่ภาพสวยๆ ภาพนึงเท่านั้นแหละ มีอายุการใช้งานสั้นอีกต่างหาก

    ทีนี้ ….เข้าประเด็นอีกละ (แค่แกงถุงละ 30 นี่ก็สาธยายแตกแขนงกันได้เป็นวันๆ แล้ว)

    เอาเว็บบล็อกของนักออกแบบทั้งหลาย ที่มีอาชีพออกแบบ มีรายได้จากการออกแบบ
    เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับงานออกแบบ (มีหลายเว็บ ที่ผมดูแล้วสับสนกับชีวิตตัวเอง
    เค้ากำลังจะบอกเรื่องอะไรหว่า นี่มันงานออกแบบที่ไม่ใช่แบบเรานี่หว่า มันเป็นศิลปะนี่หว่า
    โถ…มิน่าเล่า วงการนี้มันเลยวิบัติเรื่องแก่นของความคิด แล้วก็เลยสร้างความสับสน
    คนเรียนสถาปัตย์มารับงานออกแบบกราฟฟิค คนเรียน 3D ก็มารับทำรีทัชภาพ
    คนเรียนกราฟฟิคดีไซน์ก็ดันไปรับงานตกแต่งภายใน เอาเข้าไป มั่วไปหมด
    คนไม่เคยเรียนอะไรอย่างผมก็ดันรับทำไปซะหมด ทั้งเว็บไซต์ กราฟฟิค ตกแต่งร้านค้า
    แล้วทีนี้จะหาความเป็นมืออาชีพยังไงล่ะเนี่ย จริงนะ..เด็กร้านเพลทยังรับออกแบบได้เลย)

    แล้วก็ไปเปรียบกับเว็บที่ผมกล่าวถึงข้างต้น ซึ่งไม่มีสาระใดๆ เกี่ยวกับงานออกแบบเลย
    มีแต่รายชื่อนักออกแบบกับ portfolio ไม่กี่ชิ้น ไม่รู้ของจริงหรือของเก๊ รู้แต่เพียงว่า…
    เขามีรายได้ (ส่วนใหญ่) จากนักออกแบบ (.?.) ที่ช่วยกันทำลายศักดิ์ศรี ทั้งของตัวเอง
    และของวิชาชีพออกแบบ ส่วนรายได้ที่จะมาจากผู้ว่าจ้างนั้น เป็นไปได้ค่อนข้างยากครับ

    เพราะอะไร…?

    ง่ายนิดเดียว ทุกอย่างมีเหตุและมีผลอยู่ในตัวมันเองครับ

    หากคุณเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ อยากจะทำเว็บไซต์ แน่นอน คุณใช้อินเตอร์เน็ตเป็น
    แล้วคุณจะเสิร์ชหาคนออกแบบเว็บไซต์เอาเองไม่เป็นเชียวหรือ คุณไม่รู้จักกูเกิ้ลเลยหรือ
    คุณจะเสิร์ชหาโรงพิมพ์ก็ได้ เขาก็สามารถหานักออกแบบมาทำงานให้คุณได้
    แล้วเดี๋ยวนี้โรงพิมพ์ส่วนใหญ่ก็มีนักออกแบบไว้คอยให้บริการแก่ลูกค้าเบ็จเสร็จ
    มันง่ายกว่าปอกกล้วยเข้าปากควายซะอีก

    หากคุณคือผู้ประกอบการรายใหม่ คุณไม่รู้จักใครสักคนเชียวหรือ ที่พอจะสอบถามได้
    ถ้าเป็นเช่นนั้น เชื่อได้เลยว่า กิจการของคุณจอดตั้งแต่ยังไม่ออกจากท่าแล้ว

    ดังนั้น…ผม “ฟันธง” ไม่มีผู้ว่าจ้าง “ตัวจริง”
    คำว่า “ตัวจริง” ในที่นี้ หมายความถึง ผู้ที่มีความต้องการใช้มืออาชีพในงานออกแบบ
    และมีองค์กรที่มีตัวตนชัดเจน ไม่แอบซ่อน และทำธุรกิจแบบ จริงจัง แน่นอน
    มีออฟฟิศที่ติดต่อได้ มีระบบ ขั้นตอน ในการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนใหญ่จะไม่มีจ่ายล่วงหน้า
    ซึ่งนั่นหมายรวมถึงปริมาณของงานออกแบบ ที่ย่อมต้องมีมากกว่า 1 ครั้งด้วย
    และกิจการที่ต้องติดต่อกับนักออกแบบผ่านเว็บ “จัดหางาน” ผมว่า “มันตลก” อ่ะนะ

    ทีนี้…ในความคิดผมนะ

    ทำไม นักออกแบบจึงไม่ทำเว็บรวมมืออาชีพสำหรับเป็นข้อมูลให้ลูกค้าค้นหาซะเองล่ะ
    ปล่อยให้คนอื่นเข้ามาปู้ยี่ปู้ยำวงการและวิชาชีพที่มีศักดิ์ศรีของตัวเองอยู่ได้เนอะ
    ใครที่เป็นเหลือบของวงการ ก็ช่วยกันคิดหามาตรการคว่ำบาตรมันซะ ให้มันอยู่ไม่ได้
    วงการนักออกแบบก็จะมีการยกระดับตัวเองขึ้นมาได้ขั้นหนึ่งโดยอัตโนมัติแล้ว
    หากทำได้ ก็จะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น เมื่อสมาชิกเพิ่มถึงระดับหนึ่งแล้ว
    และมีอุดมการณ์หรือความคิดหล่อหลอมเป็นชิ้นเดียวกันแล้ว …ค่อยคิดการใหญ่

    ติดตามตอนต่อในโอกาสหน้านะครับ ขอตัวทำงานก่อน เดี๋ยวจะง่วงซะก่อน 🙂

  19. มองต่างมุมไม่ผิดครับ เพราะผมก็ไม่ได้บอกว่าความคิดตัวเองถูกเหมือนกัน
    เรียกว่าเป็นการแชร์ประสบการณ์ มุมมอง และความคิดซึ่งกันและกัน จะเหมาะกว่าครับ
    เพราะนักออกแบบคนอื่นๆ ที่อ่านอยู่ อาจจะเจอแบบเดียวกันกับของใครคนใดคนหนึ่ง

    ในกรณีเปรียบเทียบกับธุรกิจร้านอาหาร หากจะให้ผมไปยืนมองในมุมเดียวกับคุณ Siam
    ผมก็จะเห็นภาพที่ต่างออกไป เพราะร้านอาหารเป็นการบริการส่วนบุคคล ไม่ใช่ธุรกิจ
    ซึ่งมักจะเอาความสะดวกมาก่อน ราคามาที่สอง รสชาติกับรสนิยมค่อยตามมาเป็นลำดับ
    คุณ Siam อาจชำเลืองมองในมุมลูกค้าอยู่ด้วย จึงทำให้ความคิดส่วนใหญ่เป็นการเปิดกว้าง
    แต่ในทางกลับกัน ลูกค้าส่วนใหญ่มักไม่ได้มองในมุมของนักออกแบบสักเท่าใดนัก
    ปัญหามันเลยเกิดกับนักออกแบบไง

    เคยเฉลียวใจสักนิดกันบ้างหรือเปล่าว่า…

    ทำไม? งานออกแบบจึงต้องให้เครดิตลูกค้านานถึง 30 วัน
    ใครกำหนด? ใครได้ประโยชน์?

    ทำไม? นักออกแบบไทยเรียกเก็บ 30-30-40 แบบของเมืองนอกไม่ได้
    ใครกำหนด? ใครได้ประโยชน์?

    ทำไม? นักออกแบบต้องจ่าย 50% เมื่อเอางานของลูกค้าเข้าโรงพิมพ์
    ใครกำหนด? ใครได้ประโยชน์?

    ทำไม? นักออกแบบจึงเรียกเก็บ 50% แบบโรงพิมพ์ไม่ได้
    ใครกำหนด? ใครได้ประโยชน์?

    ผมอยู่ในวงการมา 30 ปี ไม่เห็นสักเรื่องที่นักออกแบบจะเป็นคนกำหนด
    และก็ไม่เห็นสักเงื่อนไข ที่นักออกแบบจะเป็นฝ่ายได้ประโยชน์
    เห็นแต่ต่างคนต่างทำเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดไปปีๆ นึงเท่านั้น

    ณ เวลานี้ ถ้าจะเปรียบอาชีพนักออกแบบ ต้องเปรียบกับโรงพิมพ์ครับ
    เพราะต่างคนต่างทำเหมือนกัน ตามศักยภาพ และความอยากเหมือนๆ กัน
    โรงพิมพ์เล็กๆ พิมพ์งานดี ตอนนี้อยู่ไม่ค่อยได้แล้วครับ ไม่ได้โม้
    สิ่งที่ทำให้เขาอยู่ไม่ได้ไม่ใช่เพราะฝีมือตกเลยสักนิด มาตรฐานยังเท่าเดิมเป๊ะๆ

    แต่เป็นเพราะความเคยชินที่ไม่มีวิสัยทัศน์ มองไม่เห็นถึงสิ่งที่จะเกิด
    คิดว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ได้ มีลูกค้าประจำระดับหนึ่ง ก็พอใจแล้ว ไม่ชอบมองอนาคต
    และก็อาจมีเหตุผลหลายข้อเหมือนกับที่คุณ Siam ยกตัวอย่าง เช่น อยากทำเล็กๆ
    ไม่อยากรวมกับคนอื่น อยากรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ อะไรเหล่านี้เป็นต้น

    ผมไม่อยากเล่านิทานเรื่องที่พ่อสอนลูกเกี่ยวกับมัดไม้ไผ่ มันน่าเบื่อจะตาย
    แต่กระแสทุนและแนวโน้มธุรกิจทั่วโลกมันเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างได้นะครับ
    โรงพิมพ์ใหญ่มีค่าบริหารต่อเดือนสูง จึงจำเป็นต้องหางานป้อนแท่นพิมพ์ 24 ชั่วโมง
    สิ่งเดียวที่พวกเขาจะได้งานคือลดกำไรต่องานลง เอาปริมาณเป็นตัวเพิ่มฐานกำไรแทน
    ซึ่งโรงพิมพ์เล็กทำแบบนั้นไม่ได้ ทั้งด้วยกำลังการผลิต และชั่วโมงทำงาน
    สุดท้าย งานพิมพ์เกือบทั้งหมดจึงไปอยู่ที่โรงพิมพ์ใหญ่ แล้วโรงพิมพ์เล็กจะอยู่ยังไง?

    นักออกแบบก็เช่นเดียวกัน อย่างที่ผมเคยบอกไปแล้ว บางคนมีทุน บางคนไม่มี
    หากทำธุรกิจแนวเดียวกับโรงพิมพ์ต่อไปเรื่อยๆ นักออกแบบที่ทุนน้อยจะอยู่ยังไง
    แล้วหากโรงพิมพ์จะคิดการใหญ่เหมือนกับ ที่นี่ จะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง
    ผมมองภาพผลประโยชน์แบบองค์รวมของทั้งระบบวิชาชีพออกแบบน่ะครับ
    ไม่ได้มองแยกแยะปลีกย่อยแบบที่คุณ Siam มอง ภาพที่เห็นมันเลยออกมาต่างกัน

    บริษัทที่ทำธุกิจด้านออกแบบนะครับ หากเป็นบริษัทใหญ่ ค่าบริหารเขาก็จะสูง
    การที่จะหางานเข้ามาเยอะๆ โดยหวังการ PITCH น่ะ มันไม่สามารถอยู่รอดได้ครับ
    อภินิหารไม่มีจริง นอกจากสินน้ำใจใส่ซอง จึงจะมีโอกาสได้งาน เมื่อเป็นเช่นนั้น
    นักออกแบบที่คิดเรื่องธุรกิจไม่เป็น เอาแต่ออกแบบสวยลูกเดียว จะอยู่กันยังไง

    ลูกค้าที่คุณ Siam เจออาจอยู่ในส่วน 5% จากจำนวน 100% ของผมก็ได้
    โชคดีไปน่ะ แต่คนอื่นๆ มักจะไม่โชคดีแบบนี้นะ เท่าที่ผมเคยเห็นมา
    เพราะการที่จะ PITCH ราคากันน่ะ มันต้องเป็นโปรเจ็คใหญ่ ที่เมื่อได้ไปแล้ว
    ทำให้มีงานทำตลอดปี งบประมาณว่ากันเป็นหลัก 10-20 ล้าน หรือ 100 ล้าน
    อย่างเช่น บริษัทโฆษณาเข้าไป PITCH โปรเจ็คการโฆษณาประจำปีงบประมาณ
    ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ โปรเจคโฆษณาทั้งปีของรถยนต์ HONDA
    หากจะต้องมา PITCH กันกับงานมูลค่าแค่แสนสองแสนแล้วละก้อ ผมว่างานระดับนี้
    คงไม่จำเป็นต้อง PITCH ละมั๊งนะ มันคงเป็นงานเล็กๆ สำหรับคนๆ เดียวก็ทำได้แล้ว

    รุ่นพี่ผมทำโรงพิมพ์อยู่น่ะ งานที่สร้างรายได้หลักไม่ได้มาจากการส่งใบเสนอราคา
    แต่กลับมาจากเพื่อนฝูงที่ทำธุรกิจในสายงานอื่น แล้วป้อนงานพิมพ์ให้ตลอดทั้งปี
    นานเป็นสิบปี การเงินก็ไม่มีปัญหา จ่ายทันทีที่เอางานไปส่ง ไม่ต้องมี 30 วันด้วย

    อีกรายหุ้นกับเพื่อน รับงานพิมพ์จากเมืองนอก ราคาไม่ใช่ไปตัดเขามา แต่เอาทักษะ
    และความรู้จริงด้านเทคนิค ทำให้ฝรั่งยอมรับ ป้อนงานล็อตนึงก็เกือบ 10 ล้าน
    ทำไม่กี่ปีเอง ตอนนี้มีเงินเล่นหุ้นทองรวยแบบซ้ำซากอีก วันๆ อยู่แต่บ้าน น่าอิจฉาจะตาย

    ทั้งชีวิตที่ประสบมา สายสัมพันธ์ในธุรกิจต่างหาก ที่ทำให้ธุรกิจรุ่งหรือร่วง
    ทุกวงการ ไม่มีข้อยกเว้น เพราะมันเป็น “ธุรกิจ” ไง แต่หากนักออกแบบจะมองว่า
    อาชีพของตัวเองเป็นศิลปะ ก็คงต้องอยู่กับอาชีพที่ “ไม่เสถียร” กันต่อไปละครับ

    เหมือนกับนักเขียนครับ นักเขียนทุกคน คิดเป็น เขียนเป็น แต่คิดแบบนักธุรกิจไม่เป็น
    ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ค่าตัวของนักเขียนไทยจึงถูกกำหนดโดยสำนักพิมพ์ ซ้ำซาก
    ผมเคยสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้วงการนักเขียนมาแล้ว ด้วยการเขียนเอง พิมพ์เอง
    กำหนดราคาเอง ขายเอง และกำไรเอง (เป็นหน้าใหม่ซิงๆ ที่ซีเอ็ดฯ กับดอกหญ้า
    ยังต้องหันมามอง และใช้เป็นแนวทางในการทำหนังสือตำราคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น)
    สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้วงการนักเขียน แต่ไม่ยักกะมีใครเดินตาม
    นักเขียนทุกคนไม่ยอมสร้างกฏเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์แก่ตนเองและวิชาชีพ
    ปล่อยให้เจ้าของสำนักพิมพ์เป็นคนเขียนบทให้เล่น ไม่รู้ควรสงสารหรือสมน้ำหน้าดี
    รายได้ส่วนแบ่ง 10% จากราคาปกของหนังสือที่ขายได้ (ใครรู้บ้าง ขายได้เท่าไหร่)
    เคยเข้าไปที่โกดังเก็บหนังสือคืนของสายส่งบ้างหรือเปล่า เห็นแล้วจะตกใจ
    ผมเห็นมาแล้ว เลยคิดได้ว่า วงการนี้ไม่ได้น่าเล่นเหมือนอย่างที่เราเคยฝันไว้หรอก
    อยู่ห่างๆ จะปลอดภัยกว่า เลยถอนตัวจากสนามหนังสือ ปล่อยพวกเขาตามยถากรรม
    หากเข้าเว็บซีเอ็ด พิมพ์ชื่อผมค้นหาหนังสือดูได้ ราคาแพงที่สุดเท่าที่คนไทยจะทำได้
    และยังไม่มีใครทำลายสถิติ แล้วหนังสือหมดจริงๆ ตามข้อมูลในเว็บครับ
    ตอนไปเคลียร์ยอดครั้งสุดท้าย เหลือมาอย่างละไม่ถึง 10 เล่ม รวมๆ แล้ว 2 ลังเบียร์
    ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนทำได้อีกเช่นเดียวกัน

    ไม่ใช่คุยโม้นะครับ แต่กำลังแสดงให้เห็นว่า…

    ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าตั้งใจทำ และ มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ใช้ในการตัดสินใจ
    เช่นเดียวกับภาพที่ผมมองเห็นอยู่ แต่คนอื่นมองไม่เห็น หรือคิดว่าเป็นไปไม่ได้
    ที่ผมทำโปรเจคแบบนั้นสำเร็จ ก็เพราะความคิดผมเป็นเอกภาพ ชัดเจน และมีเป้าหมาย
    วงการออกแบบก็เช่นเดียวกัน สามารถทำให้มันเกิดสิ่งดีๆ ได้ หากความคิดเป็นเอกภาพ
    แต่อาจต้องใช้เวลา ความพยายาม และการประสานงานเครือข่ายที่สูงกว่า ก็เท่านั้นเอง
    มันเป็นไปได้แน่นอนครับ และจะเป็นบรรทัดฐานที่ดีมากๆ สำหรับนักออกแบบรุ่นต่อๆ ไป

    ไม่ทำงานละครับ จะเช้าแล้ว นอนดีกว่า 😛

  20. อ้อ…ลืมบอกไปอีกอย่าง

    ธุรกิจออกแบบที่ใช้สายสัมพันธ์ทำให้รุ่ง เห็นมีอยู่เจ้าเดียวมั๊งครับ
    นั่นก็คือ Matchbox กับ ชินวัตร ไง
    ใครเคย PITCH งานแล้วได้งานจาก AIS หรือเครือข่ายชินวัตร
    มาถ่ายทอดประสบการณ์สู่กันและกันบ้างก็ดีนะครับ

  21. เห็นด้วยครับกับการที่นักออกแบบและสังคมนักออกแบบจะเป็นผู้กำหนดทิศทาง กลไก ฯลฯ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงอยู่ของอาชีพนักออกแบบ ผมเข้าใจว่าตอนนี้ก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก และผมก็ดีใจที่เห็นมันดีขึ้นทุกวันๆ หลายๆ บริษัทที่ผมมีโอกาสพูดคุยด้วย ก็สามารถกำหนดเงื่อนไข ค่าออกแบบ เทอมของการชำระเงิน หรือแม้แต่มีสัญญาว่าจ้างในมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศ และแนวโน้มนี้ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ บางบริษัทคิดราคาลูกค้าเป็นชั่วโมง ตามแบบ Design Consultancy ต่างๆ ที่เน้นการทำงานตาม process ไม่ใช่ทำกันในแนวคิด ‘รับจ้างทำของ’ ที่ให้ความสำคัญกับชิ้นงานสำเร็จเป็นหลัก โดยไม่สนใจว่าจะเปลี่ยน จะแก้ จะรื้อกี่ครั้ง ทำงานแบบผู้รับเหมา คือเหมาไป ลูกค้าเป็นใหญ่แก้ได้ไม่รู้จบ ทำเช่นนี้ ท้ายที่สุด บริษัทก็อยู่ไม่ได้ ลูกค้าก็ไปร่วมงานกับบริษัทอื่นและสร้างศพใหม่ๆ ต่อไปไม่สิ้นสุด

    ผมอาจจะโชคดีอย่างที่คุณ David บอกก็ได้ครับ เพราะถือว่าเป็นส่วนน้อยที่ได้เจอลูกค้าดีๆ แต่ก็มุ่งหวังที่จะให้เพื่อนๆ นักออกแบบคนอื่นๆ ได้เจอลูกค้าดีๆ ด้วย เพราะท้ายที่สุดแล้ว ถ้าเราไม่สามารถสร้างลูกค้าดีๆ ได้ อาชีพนี้ก็ไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในภาพรวม ก็จะมีบางบริษัทที่อยู่ได้ แต่ส่วนใหญ่ไปไม่รอด นักออกแบบอย่างพวกเราก็เป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นครู เป็นศิษย์กันทั้งนั้นครับ หากสังคมนักออกแบบไม่ดี เราจะไปหาลูกค้าดีๆ ได้จากที่ไหน

    ในกรณีของสายสัมพันธ์ที่คุณ David พูดถึง Matchbox ผมว่าเป็นข้อยกเว้นนะครับ เพราะเขาเป็นบริษัทในเครือ ยังไงนโยบายของเขาก็ต้องไว้วางใจและมอบหมายงานให้กันอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ครับ ที่บริษัทก็เผอิญโชคดีที่ได้มีโอกาส pitch งานของ AIS และ Shin กับ matchbox ได้บ้างในบางครั้ง และมีโอกาสได้ทำงานต่อเนื่องกับ Shin ตลอด 10 ปีมานี้ ทั้งๆ ที่เขามีบริษัทออกแบบที่มีคุณภาพมากๆ อย่าง Matchbox อยู่ ผมว่าบางครั้ง การพูดคุย รู้จัก ดูผลงาน ฯลฯ มันก็ทำให้เรารับรู้ได้ว่า ลูกค้าหรือคู่แข่งคนไหนเป็นคนที่เราจะสามารถร่วมงานได้ด้วยความมั่นใจ เข้า pitch งานด้วยได้ โดยไม่ต้องระแวงว่าจะมีอะไรตุกติก ไม่ได้บอกว่าลูกค้าแบบนี้หาง่ายนะครับ แต่เมื่อเจอแล้วเราก็ต้องรักษาไว้ เป็นเพื่อนร่วมงานที่ให้เกียรติถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือกัน เพื่อให้เขาสามารถไว้วางใจเราได้และร่วมงานกันได้ต่อเนื่องครับ

  22. David Zure Says:

    March 31st, 2012 at 04:27

    สวัสดีปีใหม่ครับ ไปไหนกันหมดอ่ะ เงียบจังเลย
    หวังว่าคงสบายดีกันทุกคนนะครับ
    แค่แวะมาทักทายก่อนวันโลกแตกครับ 😛

  23. David Zure™ Says:

    October 9th, 2013 at 22:03

    สวัสดีปีใหม่ 2513 ครับ
    กำลังจะเข้าโค้งสุดท้ายของปีแล้ว
    ยังเงียบเหมือนเดิมนะครับ
    เอาใจช่วยครับ…. 🙂

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.