การเป็นกรรมการตัดสินงานออกแบบ

ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งปีที่ผ่านมา มีกิจกรรมใหม่เกิดขึ้นกับชีวิต คือ ได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินงานประกวดออกแบบ, คณะกรรมการตรวจหัวข้องานศิลปนิพนธ์ และตรวจงานศิลปนิพนธ์ ทั้งหมดนี้ทำให้กลับมานั่งทบทวนแล้วได้ข้อสรุปจากความเห็นส่วนตัวที่นำมาบันทึกไว้ที่นี่

การตัดสินการประกวดงานออกแบบ

  • การประกวดไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดในการหางานที่ดีที่สุดหรือเหมาะสมที่สุดเสมอไป แต่สำหรับผู้จัด นี่เป็นวิธีที่ลงทุนแล้วได้ผลเชิงปริมาณชัดเจนที่สุด วัดผลได้จากจำนวนผู้ส่งผลงานเข้าประกวด
  • เราไม่สามารถตัดสินผลงานได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ได้รับฟังการนำเสนอของเจ้าของงานได้
  • มีบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ที่ตั้งใจหากินกับการทำงานประกวดอย่างจริงจัง ส่งทุกงานเท่าที่จะทำได้ เพราะเป็นงานที่จบเร็ว ได้ตังค์โดยไม่ยุ่งยาก
  • มาตรฐานของการประกวดงานออกแบบ ขึ้นอยู่กับการคัดเลือกคณะกรรมการ

การตรวจหัวข้องานศิลปนิพนธ์

  • โลกทุกวันนี้ จะหาหัวข้อที่ใหม่ มีประโยชน์ และน่าสนใจจริงๆ ยากขึ้นเรื่อยๆ
  • การนำความสนใจส่วนตัวมาเป็นหัวข้อ ทำให้นักศึกษา “อิน” กับสิ่งที่จะทำ แต่ควรต้องหาเหตุผลมารองรับให้ครบถ้วน เพราะสุดท้าย งานออกแบบก็ไม่ใช่งานศิลปะ ต้องมีกลุ่มเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และผลที่คาดหวังชัดเจน ไม่ใช่ทำเพื่อตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของเจ้าของโครงการ
  • กรรมการไม่ควรยัดเยียดความคาดหวังของตัวเองให้กับนักศึกษามากเกินไป จริงอยู่ที่ความตั้งใจจะผลักดันนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องคำนึงถึงความถนัด และศักยภาพของเจ้าของโครงการด้วย
  • ปัญหาคือ ถ้าคำว่า “กรรมการ” คือ เข้าไปตัดสินว่าถูกต้องหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ เท่านั้นแล้วจบ อะไรก็คงไม่ยาก แต่กรรมการก็อดไม่ได้ที่ทำจะหน้าที่โดยมีบทบาทของการเป็น “อาจารย์” หรือ “ที่ปรึกษา” รวมอยู่ด้วย

การตรวจงานศิลปนิพนธ์

  • หัวข้อดี, บรีฟดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
  • การเลือกหัวข้อ และสื่อที่เหมาะสมกับความสนใจ และความสามารถของเจ้าของโครงการ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพงานอย่างชัดเจน
  • หลายครั้งที่ขณะตรวจจะคิดไปถึงว่า “ถ้านักศึกษาคนนี้จบไปแล้ว จะนำทักษะ หรือความรู้ที่ได้จากงานชิ้นนี้ไปใช้ได้อย่างไรในการทำงานจริง”
  • คำว่า “ยิง” ที่นักศึกษาชอบพูดกัน ฟังดูน่ากลัวเกินไป จริงๆ น่าจะเรียกว่า “ชี้ประเด็น” เท่านั้นแหละ จะชี้แบบเอานิ้วปักแสกหน้า หรือชี้แบบสะกิด ก็แล้วแต่

หมายเหตุ จนกว่าจะหมดภาคการศึกษาต้นของปีการศึกษา 2553, โพสท์นี้น่าจะได้อัปเดทอีกเรื่อยๆ

4 Responses to “การเป็นกรรมการตัดสินงานออกแบบ”

  1. สวัสดีค่ะอาจารย์ อาจรย์สอนอยู่ม.กรุงเทพใช่ไม๊ค่ะ หนูไม่ใช่เด็กของม.กรุงเทพหรอกค่ะ แต่เรื่องของเรื่องเลยคือเทอมหน้านี้ หนูจะต้องเรียนวิชาtypo เลยลองมาหาของมูลในเว็บไซค์ก่อน บังเอิญมาเจอเว็บของอาจารย์ อ่านแล้วสนุกดีค่ะ โดยเฉพาะเรื่องหนังสือรุ่นของอาจารย์ ทำให้มีกำลังใจขึ้นบ้าง หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในวิชาVisaul com.มาเทอมนึงเต็ม ขอบคุณอาจารย์มากเลยค่ะ
    ปล. เรื่อง สะพานแคบ ใจกว้าง ก็ซึ้งค่ะ

  2. สวัสดีครับ thanisa ผมเป็นอาจารย์พิเศษที่ม.กรุงเทพครับ ผมว่า blog นี้ก็ไม่ได้มีสาระเกี่ยวกับสิ่งที่คุณหาเท่าไหร่ งงเหมือนกันว่ามาเจอได้อย่างไร ขอบคุณสำหรับความเห็น และยินดีที่มีส่วนเป็นกำลังใจให้นะครับ

  3. ผมเป็นเด็ก เอกกราฟฟิคโฆษณา ปี4 ม.บูรพา ครับ ขออนุญาตินำบทความนี้ไปแจกให้เพื่อนๆอ่านนะครับ พอดีกำลังเริ่มทำthesisกันเลยครับ ขอบคุณครับ 😀

  4. ด้วยความยินดีครับ

Leave a Reply

You must be logged in to post a comment.